posttoday

รื้องบ2.4ล้านล้านสานฝันสร้างกำลังซื้อ

01 กันยายน 2554

เสร็จสิ้นภารกิจเร่งด่วนในเรื่องการลดการเก็บเงินสมทบ

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เสร็จสิ้นภารกิจเร่งด่วนในเรื่องการลดการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งเบนซิน ดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งประเมินกันว่าทำให้กองทุนน้ำมันฯ ขาดรายได้เดือนละ 6,160 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี ก็ตก 7.4 หมื่นล้านบาท บวกกับเงินชดเชยราคาน้ำมันคงค้างในปั๊มน้ำมันอีก 3,000 ล้านบาท กู้เงินมาอีก 2 หมื่นล้านบาท

กรมสรรพสามิตคิดตัวเลขคร่าวๆ ว่า การลดราคาน้ำมัน 3 ชนิด ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 แน่นอนว่า กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปี 2555 ที่ตั้งไว้ 4.5 แสนล้านบาทไม่น้อย

ระฆังยกสองที่กำลังเริ่มต้นปลุกปั้นกัน คือ การปรับรื้อกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 กันชุดใหญ่ เพื่อให้สนองตอบต่อนโยบายเสริมสร้างกำลังซื้อในประเทศที่โดนใจไทยทั้งผอง

บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง บอกว่า ในการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการปรับเพิ่มกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่

เป็นงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 2.4 ล้านล้านบาท

ประมาณการรายได้เพิ่มเป็น 2.05 ล้านล้านบาท

ขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

ภายใต้สมมติฐานว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้ 4.5-5%

ทั้งนี้ รายได้ในปี 2555 ได้ตั้งเป้าว่า กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิต 4.5 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ของกรมธนารักษ์และการนำส่งเงินรัฐวิสาหกิจ

รื้องบ2.4ล้านล้านสานฝันสร้างกำลังซื้อ

บุญทรง ชี้แจงชัดว่า งบประมาณทั้งหมดนั้นได้นำผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การขยายเวลาการลดภาษีน้ำมัน การลดภาษีนิติบุคคล การขึ้นค่าจ้าง เงินเดือนมาประมวลเรียบร้อยแล้ว

ดูข้อมูลผิวเผินอาจมองไม่เห็นภาพของการปรับรื้องบประมาณรายจ่ายแต่อย่างใด แต่หากนำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์จะเห็นร่องรอย

กรอบเดิมที่สำนักงบประมาณได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีทั้งสิ้น 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณปี 2554 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท

แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 1.82 ล้านล้านบาท

ประมาณการจัดเก็บรายได้รวมไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท

ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ลดลง 16.7% หรือลดลง 7 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณ 2554 ที่ขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท

เป็นรายจ่ายการลงทุน 3.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7%

เป็นรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินกู้ 4.7 หมื่นล้านบาท

ชัดเจนว่าตัวเลขในเบื้องต้นนั้น งบประมาณรายจ่ายที่รัฐบาลปูแดงสั่งให้เพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งจะมีการหารือกันในวันนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากมติ ครม.เดิมไปทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีและการนำส่งของหน่วยงานของรัฐเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและประสิทธิภาพในการจัดเก็บเพิ่มได้อีกแค่ 1 แสนล้านบาท

เบ่งกล้าม บีบคั้นกันเต็มที่แล้วก็สามารถจัดได้เต็มที่แค่นี้ คือ เพิ่มมาจากปีงบประมาณ 2554 รวมแล้วแค่ 3.3 แสนล้านบาท

แต่ประทานโทษ เฉพาะการลดภาษีน้ำมัน หมายถึงว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลต้องหามาอุดทางนโยบายในหลากหลายมิติปาเข้าไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท

ประเด็นที่ต้องพิเคราะห์ คือ รัฐบาลจะหาเงินมาจากไหนในการดำเนินนโยบายสารพัดแจกที่มุ่งเน้นการสร้างกำลังซื้อของประชาชน

ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อการตัดสินใจที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจัดทำเพื่อ “อินปรีฟ” ให้กับบรรดารัฐมนตรีใหม่ได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายมีดังนี้

หนึ่ง โครงสร้างการจัดทำงบประมาณนั้น มี 4 ส่วน ที่เป็นงบประมาณตายตัว ไม่สามารถปรับเปลี่ยน โยกย้ายได้ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำ งบประมาณชำระหนี้ งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และงบประมาณรายจ่ายที่ผูกพันตามสัญญาต่างๆ

สอง งบประมาณในส่วนที่จะสามารถขยับหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ จะอยู่ในส่วนของรายจ่ายของรัฐบาล และนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล

เช่น งบโครงการเรียนฟรี เงินอุดหนุนท้องถิ่น โครงการนมโรงเรียน และโครงการที่ไม่ผูกพันตามสัญญา รวมถึงงบในส่วนของนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล

สาม งบประมาณใน 4 ส่วนหลักที่ไม่สามารถขยับได้เลย ถ้าพิจารณาจากกรอบเดิมจะมีอยู่ประมาณ 1.181-1.187 ล้านล้านบาท หรือ 53% ของงบทั้งหมด

สี่ เหลือส่วนของงบประมาณที่สามารถขยับเพื่อสนองนโยบายได้อยู่แค่ 4 แสนล้านบาท

ห้า เมื่อต้องส่งเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นตามกฎหมายอีก 2 แสนล้านบาท จึงส่งผลทำให้รัฐบาลชุดใหม่มีส่วนเหลือของงบที่สามารถขยับได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท จากงบรายจ่ายที่ทำเอาไว้เดิมที่ทำไว้ 2.25 ล้านล้านบาท

หก หากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปตามคาดการณ์ คือ สูงกว่าเป้าหมาย 1.84 แสนล้านบาท รัฐบาลใหม่ก็จะมีช่องทางในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกตามจำนวนที่เพิ่มขึ้น

เมื่อสถานการณ์ของงบในกระเป๋ารัฐบาลเป็นเช่นนี้ แต่นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งเลิฟ กลับจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อสนองนโยบายที่หาเสียงไว้ร่วม 3.2 แสนล้านบาทเศษ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป คือ การรื้องบประมาณรายจ่ายที่กระทรวงต่างๆ เสนอขอไว้ก่อนหน้านี้ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน และสนองตอบต่อนโยบายที่ได้ประกาศไว้ต่อรัฐสภา

และต้องเป็นการรื้อแบบชุดใหญ่เพื่อถมนโยบายสร้างกำลังซื้อ

พรายกระซิบจากสำนักงบประมาณชี้โพรงไปชัดๆ ว่า ให้ทุบโต๊ะไปได้เลยว่า งบที่กระทรวงศึกษาธิการยื่นคำขอไปทั้งสิ้น 5.51 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบก่อนร่วม 1.59 แสนล้านบาท จะต้องถูกปรับลดลงมาแน่นอนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท

ถามว่า โครงการไหนบ้างที่มีความสุ่มเสี่ยง งบกองทุน 4,119 ล้านบาท โดนแน่

งบกองทุนพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การจัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาค และการจัดตั้ง กศน.ประจำตำบล ก็อยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงที่ต้องถูกเกลี่ย ปรับ ลดงบในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน

งบหนังสือเรียนได้ของบเพิ่มขึ้น 2,400 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียนทุกคนทุกระดับชั้นได้หนังสือเรียนฟรีโดยไม่ต้องนำมาคืนก็โดน

ยังไม่พอขอรับครับผม งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 2.807 แสนล้านบาทเศษ ก็อาจต้องโละจำนวนมาก

ที่ต้องใส่ใจเป็นกรณีพิเศษ คือ งบประมาณในการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ 9,750 แห่ง วงเงิน 2,670 ล้านบาท งบประมาณให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แห่งละ 35 ล้านบาท วงเงิน 2,652 ล้านบาท ก็อาจต้องโดนเฉือน

เช่นเดียวกับงบลงทุนในการก่อสร้างอาคารสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน 1.05 หมื่นล้านบาท ทั้งประเภทใช้ปีเดียวจบ 7,477 ล้านบาท และประเภทงบผูกพันใหม่ 3,053 ล้านบาท รวมถึงงบจัดซื้อครุภัณฑ์อีก 3,674 ล้านบาท อาจฝันสลาย

งบประมาณในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือรักษาฟรีทุกโรค ก็จะมีการถอนออกมา เพราะรัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนมาเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เหมือนเดิม ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากการเก็บค่ารักษา และจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในโครงการนโยบายอื่น เช่น จ่ายเบี้ยคนชราเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 500 บาท เป็นเดือนละ 600-1,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มจากปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น ปีละ 4.5 หมื่นล้านบาท

งบประมาณที่ถูกตั้งไว้ 8.5 หมื่นล้านบาท ในโครงการรับประกันรายได้เกษตรของรัฐบาลชุดเก่า ก็จะผันมาใช้ทำโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดแทน

ขณะที่งบของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอขอไว้ 2.35 แสนล้านบาท ก็มีสัญญาณว่าอาจต้องปรับลดลงมาได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะงบในส่วนของกรมทางหลวงที่เสนอขอมา 9.31 หมื่นล้านบาท

นี่คือหนังตัวอย่างของการปรับรื้องบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สนองต่อการโหมโรงนโยบายแจกสะบัดช่อของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งเลิฟ

โปรดรอคอยด้วยความระทึกในฤทัยกันได้...