posttoday

โลกเตรียมรับมือเฟดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ไม่ใช้คิวอี3

30 สิงหาคม 2554

ภายหลังจากการขึ้นกล่าวแถลงการณ์ประจำปีของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ภายหลังจากการขึ้นกล่าวแถลงการณ์ประจำปีของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ภายหลังจากการขึ้นกล่าวแถลงการณ์ประจำปีของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั่วโลกต่างพยักหน้ารับด้วยความเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจนแล้วว่า เฟดได้เตรียมตัวและเตรียมการมาตรการรับมือที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐให้เดินหน้าต่อไปได้แน่นอน

ส่วนจะเป็นวันไหน เวลาไหนนั้น เบอร์แนนคี ไม่ได้เอ่ยถึง โดยแง้มแต่เพียงว่าแค่รอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

ขณะที่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี 3) ที่หลายฝ่ายคาดหวังให้สวมบทพระเอกขี่ม้าขาวอีกครั้ง เบอร์แนนคี กลับไม่ได้เอ่ยถึง หรือแม้แต่ส่งสัญญาณใดๆ ออกมาเลย

เท่ากับว่าเป็นคำตอบของเฟดที่ค่อนข้างเป็นนัยชัดเจนแล้วว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวใหม่ครั้งนี้เฟดคงไม่อาจเลือกใช้บริการจากคิวอี 3 ได้อีกต่อไป หากคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้จากคิวอีทั้งสองครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของ เบอร์แนนคี ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างเริ่มขบคิดแล้วว่า หากไม่ใช้มาตรการคิวอี 3 เฟดจะมีเครื่องมืออะไรในมือ

หรือการพูดของ เบอร์แนนคี ในครั้งนี้อาจเป็นไปตามที่หลายสำนักคาดการณ์ว่า เบอร์แนนคี หวังผลทางจิตวิทยา เพียงแค่ซื้อเวลารอดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่เลวร้ายถึงขีดสุดจริงๆ คิวอี 3 ก็จะยังคงเป็นไม้ตายก้นหีบต่อไป

 

โลกเตรียมรับมือเฟดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ไม่ใช้คิวอี3

ทั้งนี้ ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างระบุตรงกันว่า หากพิจารณาถึงสถานภาพและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบันที่ซบเซา และเดินหน้าเข้าสู่ถดถอย จนต้องมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงจาก 1.3% เหลือเพียง 1% เฟดเหลือทางเลือกไม่มากนักที่จะดึงเศรษฐกิจของสหรัฐให้หลุดออกจากปลักเหล่านี้ได้

ทางแรกสุดที่เริ่มมองกันก็คือการเพิ่มปริมาณความต้องการของคนในประเทศโดยกระตุ้นให้ใช้เงิน เพราะต้องไม่ลืมว่า 70% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐมาจากกำลังการบริโภคของคนเป็นหลัก และทางที่จะทำให้คนใช้เงินได้ก็คือการลดแรงจูงใจในการออม หรือก็คือการลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งเสริมให้มีการกู้ยืมเงินแทน

ทว่า เฟดไม่สามารถใช้มาตรการลดดอกเบี้ยได้อีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปัจจุบันถือได้ว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งจะให้ต่ำกว่าศูนย์ก็คงเป็นหนทางที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน

ทางเลือกต่อมาก็คือการขยายระยะเวลาครบกำหนดของตราสารที่เฟดครอบครองอยู่ให้นานขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนกู้ยืมในระยะยาวได้ แต่เฟดก็ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนหากเฟดจำเป็นต้องยุติการลงทุนนั้นๆ ลง

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเป้าอัตราเงินเฟ้อใหม่ จากเดิมในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2% เพื่อช่วยเพิ่มแรงจูงใจของภาคครัวเรือนธุรกิจให้ใช้จ่ายมากขึ้น ทว่าสถานการณ์ของสหรัฐในขณะนี้ไม่มีเหตุผลให้ต้องขึ้นเป้าเงินเฟ้อ อีกทั้งเฟดเองก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ว่านี้ เพราะอาจจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ของประเทศให้หนักหนากว่าเดิม

ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจ่ายให้กับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ให้เหลือศูนย์ จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 0.25% เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้น ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่เข้าทีดี เพียงแต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอาจได้ผลไม่มากนัก และอาจก่อปัญหาให้กับตลาดการเงินของประเทศได้

สำหรับทางเลือกสุดท้ายที่ผู้เชี่ยวชาญพิจารณากันไว้ก็คือ นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี แต่แทนที่จะทุ่มเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา เฟดน่าจะทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น และหนี้การจำนองบ้าน ซึ่งเป็นต้นทุนของครัวเรือนแทน

เรียกได้ว่าเป็นการกระตุ้นที่ตัวผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งถือเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่ผู้บริโภคไม่ยอมใช้จ่าย เห็นได้จากดัชนีผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 0.1% ในไตรมาส 2 นี้ แทนที่จะเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวเพื่อให้ผลิตสินค้าราคาถูกเข้าสู่ตลาดแบบคิวอีที่ผ่านมา

เพราะแม้จะทำให้ภาคการส่งออกของสหรัฐมีการเติบโตในไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 6% แต่เศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศของสหรัฐกลับไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ทว่า วิธีการข้างต้นเฟดก็ต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาลหากลูกหนี้เหล่านั้นไม่สามารถใช้คืนได้ และก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ใช้คืนสูงทีเดียว

เรียกได้ว่าวิธีการทั้งหมดที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์พอจะเคาะออกมาได้ ล้วนเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยจะโสภา และไม่ได้ดีเด่นเกินหน้าเกินตานโยบายคิวอี 3 สำหรับเฟดเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์ที่ แจ๊กสัน โฮลว์ ในไวออมมิง เบอร์แนนคี ได้สื่อให้เห็นค่อนข้างโจ่งแจ้งว่าปัญหาของสหรัฐในขณะนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของเฟดเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐด้วย

ประธานเฟดยอมรับว่า นโยบายของเฟดที่ออกมาอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องได้ในระยะหนึ่ง ทว่าตราบใดที่รัฐบาลไม่เดินหน้าผลักดันนโยบายการจัดเก็บภาษีหาเงินเข้ารัฐ ปรับปรุงวินัยการคลัง และจัดการกับปัญหาว่างงานภายในประเทศ ต่อให้เฟดมียาดียาแรงแค่ไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ในมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้มาตรการของเฟดไม่ค่อยเห็นผลเท่าที่ควร ก็เนื่องมาจากอัตราการว่างงานของคนในประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาก จนทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีความเปราะบางอยู่มาก

เพราะต้องไม่ลืมว่า คนจะไม่ยอมใช้จ่ายเด็ดขาดหากไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้ ดังนั้นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าใหญ่ๆ อย่างบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศโตได้

ขณะเดียวกัน เมื่อคนไม่ยอมใช้จ่าย ธุรกิจก็ไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะจ้างคนให้มาทำงาน

แน่นอนว่า การแก้ปัญหาวงจรดังกล่าว และเร่งหางานให้ประชาชนทำ เป็นหน้าที่ของเหล่าผู้แทนในสภาของสหรัฐ ที่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของสภาคองเกรสในขณะนี้มีแนวโน้มจะไม่สามารถเป็นหลักให้พึ่งพาได้มากนัก

แต่ เบอร์แนนคี ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากเตือนสติรัฐบาลสหรัฐให้เห็นแก่ทางรอดของประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่นักวิเคราะห์พากันพูดทำนองเดียวกันว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่เฟดจะปิดท้ายด้วยการโยนลูกใส่ตักประธานาธิบดีและสมาชิกสภาคองเกรสเช่นนี้ จนเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไปว่า ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐจะตอบสนองท่าทีของเฟดอย่างไร

จนกว่าจะถึงเวลานั้น โลกคงทำได้แต่เฝ้าดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางปรับทิศทาง หรือตั้งรับ ตามพี่เบิ้มยักษ์ใหญ่ให้ทันการณ์เท่านั้น