posttoday

ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ฐานะการคลังอ่วม

29 สิงหาคม 2554

กระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์ผลกระทบด้านการคลัง สถานะกองทุนน้ำมัน

กระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์ผลกระทบด้านการคลัง สถานะกองทุนน้ำมัน

โดย..ทีมข่าวการเงิน

กระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์ผลกระทบด้านการคลัง สถานะกองทุนน้ำมัน และผลกระทบในเชิงมหภาคของการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ที่จะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นี้

ผลกระทบในกรณีแรก ภาครัฐจะสามารถใช้ 2 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการด้านภาษี โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันหลังจากหมดมาตรการภาษีน้ำมันดีเซลที่คาดว่าจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2554

2) มาตรการรายจ่ายของกองทุนน้ำมัน จากการหารายรับเพิ่มเติมจากการกู้ยืม

ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงถึงระดับ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากกรณีฐานที่อยู่ที่ 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึงลิตรละ 32 บาท ผลกระทบในเชิงนโยบายมีดังต่อไปนี้

กรณีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันต่อเนื่อง หลังจากหมดมาตรการในเดือน ก.ย. 2554 จะส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันของประชาชนที่หันมาใช้น้ำมันชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,953 ล้านลิตรต่อเดือน ทำให้รายได้รัฐบาลจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูญเสียกว่า 8,435 ล้านบาทต่อเดือน

ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ฐานะการคลังอ่วม

 

นอกจากนี้ หนี้สาธารณะที่รัฐบาลค้าประกันจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่รายจ่ายของกองทุนสูงกว่ารายได้ ทำให้กองทุนน้ำมันต้องกู้ยืม 578 ล้านบาทต่อเดือน

ด้านสถานะของกองทุนน้ำมัน พบว่า รายรับจากเงินส่งเข้ากองทุนเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น ภายใต้สมมติฐานว่ากองทุนน้ำมัน ไม่มีรายจ่ายเพื่อชดเชยน้ำมันดีเซล กองทุนน้ำมันยังคงต้องมีรายจ่ายชดเชยอื่นๆ คงที่ที่ 3,731 ล้านบาทต่อเดือน

กรณีที่กองทุนน้ำมันกู้ยืมเพื่อนำมาชดเชยน้ำมันดีเซลหลังจากหมดมาตรการในเดือน ก.ย. 2554 จะส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันของประชาชนที่หันมาใช้น้ำมันชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,828 ล้านลิตรต่อเดือน รัฐบาลมีภาระค้าประกันเพิ่มสูงขึ้น 5,650 ล้านบาทต่อเดือน

เป็นผลมาจากรายรับของกองทุนน้ำมันต่ำกว่ารายจ่ายของกองทุน ซึ่งคาดว่ารายรับจากการนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันจะสูงขึ้นกว่ากรณีฐาน เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้รายรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2,953 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่รายจ่ายชดเชยราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ 4,872 ล้านบาทต่อเดือน หมายถึงว่ากองทุนต้องกู้ยืมประมาณ 5,650 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร

ผลกระทบเชิงมหภาค ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันโลกที่ระดับ 110 เหรียญต่อบาร์เรล สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประมาณการว่า หากไม่มีมาตรการตรึงราคาน้ำมันที่ระดับราคาลิตรละ 30 บาท จะทำให้ระดับราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยลิตรละ 32 บาท หรือราคาเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีดังต่อไปนี้

ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ หากรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ ลิตรละ 30 บาทตลอดทั้งปี 2554 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 4.3% เนื่องจากการปรับขึ้นของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าพลังงานส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 3.6% โดยมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมีส่วนช่วยลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 ลงได้ 0.7%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานพบว่า มาตรการนี้จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงได้ 0.3%

ผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ พบว่า มาตรการตรึงระดับราคาน้ำมันดีเซล มีส่วนในการช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วไปเพียง 0.70% เท่านั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในภาพรวมมากนัก ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2554 จะขยายตัวได้ตามกรอบเป้าหมายที่ 4.0-5.0%

ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โครงสร้างต้นทุนสินค้าประกอบด้วยต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมการขาย การบริหาร และการเงิน โดยต้นทุนวัตถุดิบจะเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ซึ่งมีสัดส่วนในโครงสร้างต้นทุน 30-90% ขึ้นกับชนิดของสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรม

จากการศึกษาพบว่า หากไม่มีมาตรการตรึงราคาน้ำมัน จะส่งผลทำให้ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภค ในส่วนของค่าใช้จ่ายผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้นเฉลี่ย 0.40% โดยสินค้าปูนซีเมนต์จะได้รับผลกระทบสูงสุดที่ 0.79%

ดังนั้น เมื่อผลจากการศึกษาเป็นแบบนี้จึงมีข้อเสนอแนะว่า นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร จะส่งผลดีต่อการควบคุมค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อการบิดเบือนโครงสร้างราคาและปริมาณการใช้น้ำมันในระยะยาว

เนื่องจากการตรึงราคาน้ำมันมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคา น้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชน ทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือ ทั้งยังกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะรายจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

ดังนั้น การผ่อนคลายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลควบคู่ไปกับมาตรการเงินอุดหนุนเพื่อเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจึงเป็นทางเลือก เพื่อลดแรงกดดันทางสังคมของการยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมัน

ขณะเดียวกันต้องวางแผนโครงการเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานประเทศในระยะยาว โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ขยะ และมูลสัตว์ กำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพัฒนาพืชพลังงาน รวมทั้งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและส่งเสริมการแข่งขัน และการลงทุนในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย

นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดอุปสงค์รวมในการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาได้

ทั้งนี้เพราะ หากมีการใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันต่อเนื่องหลังจากหมดมาตรการในเดือน ก.ย. 2554 คาดว่าพฤติกรรมการใช้น้ำมันดีเซลของประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,953 ล้านลิตรต่อเดือน รัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันกว่า 8,435 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ หนี้สาธารณะที่รัฐบาลค้ำประกันจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่รายจ่ายของกองทุนสูงกว่ารายได้ ทำให้กองทุนน้ำมันต้องกู้ยืมเพื่อนำมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลประมาณ 578 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ หากกองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินเพื่อนำมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหลังจากหมดมาตรการในเดือน ก.ย. 2554 จะทำให้พฤติกรรมการใช้น้ำมันดีเซลของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย โดยจะอยู่ที่ 1,828 ล้านลิตรต่อเดือน ส่งผลให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องค้ำประกันเพิ่มสูงขึ้น 5,650 ล้านบาทต่อเดือน

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ยืนยันได้ดีว่าน่าจะมีปัญหา

โดยก่อนมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล พบว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,122 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.1% อย่างไรก็ตาม หลังจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล รายได้จัดเก็บได้น้อยกว่าประมาณการ 3,522 ล้านบาท หรือหดตัวลง 5.0%

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังมีส่วนในการกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 2554 เพิ่มสูงขึ้น 16% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเดือน 10% สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในการใช้น้ำมันจากมาตรการภาษีของภาครัฐ

นี่คือปัญหาที่รัฐบาลควรหาทางขบคิดก่อนสายเกินแก้