posttoday

สอบภาษีหุ้นชินฯระเบิดเวลาลูกใหม่

19 สิงหาคม 2554

จนถึงขณะนี้เกือบ 5 ปีมาแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเงิน

จนถึงขณะนี้เกือบ 5 ปีมาแล้ว การเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปของคนในตระกูลชินวัตรจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ยังเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลัง

ล่าสุดกรมสรรพากรตัดสินใจไม่ยื่นเรื่องอุทธรณ์ศาลภาษีในการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป 1.2 หมื่นล้านบาท จาก พานทองแท้ ชินวัตร และ พินทองทา ชินวัตร โดยอ้างว่า ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ใช่เจ้าของหุ้นตัวจริง พร้อมทั้งสั่งคืนทรัพย์สินที่อายัดไว้ 1,200 ล้านบาท

เพียงแค่ข่าวออกมาสังคมก็ฮือฮากังขาการทำงานของหน่วยจัดเก็บภาษีแห่งนี้

ยิ่งพอ สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมายืนยันอีกว่า กรมสรรพากรไม่เก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของหุ้นตัวจริง เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีขายหุ้นชินคอร์ปในตลาด ไม่มีภาระภาษีต้องเสียภาษี

เหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาที่พอดีพอเจาะกับการเปลี่ยนแปลงการเมือง มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจึงมีฐานะเป็นน้า และน้องสาวของคนที่กรมสรรพากรไม่ยอมเก็บภาษีเสียด้วย

 

สอบภาษีหุ้นชินฯระเบิดเวลาลูกใหม่

ผลที่ตามมา คือ กรมสรรพากรถูกมองว่าโดนคลื่นการเมืองเข้าแทรกแซง จนต้องเอื้อประโยชน์ผู้เสียภาษี ทำให้ประเทศชาติเสียหาย

ถึงตอนนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่กรมสรรพากรดำเนินการเป็นที่กังขาของสังคมถึงสองครั้งสองครา ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นอย่างรุนแรง

และกระเพื่อมหนักจนไม่จำกัดวงแคบแค่กรมสรรพกรเท่านั้น

หากแต่ยังลามไปถึงกระทรวงการคลัง รวมถึง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่ถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ก็ถูกกังขาจากสังคมไปด้วย

หากปล่อยไว้ถูกตีความไปต่างๆ นานา เรื่องนี้จะบานปลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองจนแก้ไม่ตก เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงขนาดที่รัฐบาลอยู่ไม่ได้

กระทรวงการคลังต้องพลิกเกม สั่งกรมสรรพากรรื้อเก็บภาษีหุ้น 1.2 หมื่นล้านบาท จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ใหม่ โดยให้ทำรายละเอียดเก็บไม่เก็บเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาด

กรรมการชุดนี้มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และอธิบดีกรมภาษี 3 กรม ร่วมเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ ถือว่าเป็นการดึงเรื่องมาหารือกันในหมู่ผู้บริหารสูงสุดของข้าราชการประจำ

การยอมหักหน้ากรมสรรพากรแล้วรื้อเรื่องเก็บภาษีขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยก็ลดแรงกระเพื่อมทางการเมืองในช่วงนี้ของรัฐบาลออกไปได้อีกระยะหนึ่ง

แต่ในทางกลับกัน การยื้อเวลาออกไปก็เท่ากับเป็นกับระเบิดลูกใหม่ของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังในอนาคต

เนื่องเพราะถึงที่สุดแล้วฟันธงได้เลยว่า กรมสรรพากรต้องยืนยันว่า ไม่สามารถเก็บภาษีหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนเดิมได้อย่างแน่นอน

เพราะหากกลับลำเก็บเก็บภาษี การทำงานของกรมสรรพากรยิ่งถูกตั้งคำถามในทางลบหนักขึ้นไปอีก ว่าทำไมกลับไปกลับมา

ตอนนี้จึงอยู่ที่ว่า กรมสรรพากรจะให้เหตุผลว่าเก็บภาษี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เพราะอะไร

จะยืนยันเหมือนเดิมว่า เป็นการขายหุ้นในตลาดไม่มีภาระภาษีหรือไม่

หากยืนยันในประเด็นนี้ ก็จะมีปัญหาทางกฎหมายตามมาว่า หากกรมสรรพากรเหมาว่า นิติกรรมการซื้อขายระหว่างแอมเพิล ริช กับพานทองแท้และพินทองทาเป็นโมฆะ ก็จะต้องถูกแย้งว่า ทำไมสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ รมว.คลัง เป็นเลขาธิการ เคยปรับเงินพานทองแท้จากการถือหุ้นในช่วงดังกล่าว 5%

หมายความว่า จะต้องคืนเงินดังกล่าวให้พานทองแท้ด้วย เพราะนิติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นโมฆะด้วยจริงหรือไม่

แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ ก.ล.ต.ไม่เคยคืนเงินสักบาทให้กับพานทองแท้

ก็เท่ากับว่า นิติกรรมการโอนขายหุ้นนอกตลาดแก่พานทองแท้และพินทองทา เกิดขึ้นจริง

เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่กรมสรรพากรจะมาเหมาตีความว่า นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงไม่น่าถูกต้องนัก

ครั้นจะหันไปเก็บภาษีจากอดีตนายกฯ ทักษิณก็ยุ่ง และทำไม่ได้อยู่ดี เพราะจะถูกล็อกไว้ด้วยประมวลกฎหมายรัษฎากร ตามมาตรา 61 ที่ระบุว่า การเก็บภาษีจะต้องเก็บจากผู้ที่มีเอกสารหลักฐานว่ามีรายได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งอดีตนายกฯ ไม่มี เพราะกระทำการแทนโดยลูกทั้งสองและคนในครอบครัวทั้งหมด

ปมสำคัญของกฎหมายดังกล่าว ต่อให้เรื่องเข้าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลัง ก็ไม่มีทางหาช่องเป็นอย่างอื่นไปได้

ผลสรุปจึงต้องออกมาเป็นเก็บภาษีหุ้นจากคนในตระกูลชินวัตรไม่ได้

ถึงตอนนั้นคงสั่นสะท้านไปทั้งกระทรวงอีกระลอก

แต่อย่างที่บอกว่า การโยนเรื่องเข้าคณะกรรมการวินิจฉัย เป็นการลดแรงกระเพื่อมทางการเมือง อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบ ไม่ได้ให้กรมสรรพากรคิดลุยไฟอยู่คนเดียว

แต่กระนั้น การใช้กลไกคณะกรรมการวินิจฉัยภาษี ก็ใช่ว่าจะสามารถปลดชนวนระเบิดได้ หากแต่จะกลายเป็นระเบิดเวลาได้ทุกเมื่อ

เนื่องเพราะหัวใจสำคัญ กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังจะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า การเก็บภาษีจากใครไม่ได้สักคนทั้งๆ ที่มีการซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดนั้นเป็นไปได้อย่างไร

สุดท้ายก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบความเสียหาย รวมถึงหาคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะตั้งอีกกี่กรรมการขึ้นมาวินิจฉัย ก็ไม่สามารถลบล้างความค้างคาใจของคนในสังคมไปได้

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้การเก็บภาษีหุ้นอดีตนายกฯ ไม่ได้ ยังมีเรื่องที่กรมสรรพากรต้องทำความกระจ่างเรื่องการแพ้คดีการเก็บภาษีพานทองแท้และพินทองทา ในศาลภาษีที่ไม่ดำเนินการอุทธรณ์สู้ให้ถึงสิ้นสุดอีก

เพราะข้อต่อสู้ของกรมสรรพากรในชั้นศาลพบข้อผิดพลาดหลายอย่าง ในขณะที่พานทองแท้และพินทองทา ยกคำพิพากษาศาลฎีกายึดทรัพย์พ่อมาต่อสู้ว่าหุ้นเป็นของพ่อ จะมาเก็บภาษีไม่ได้

หลักฐานในคำพิพากษาของศาลภาษีกลาง กลับพบว่ากรมสรรพากรไม่ได้สืบพยานมาหักล้างในประเด็นดังกล่าวแม้แต่น้อย แถมยังส่งคำแถลงปิดคดียอมรับข้อเท็จจริงที่ทั้งสองคนต่อสู้อีกด้วย

นี่จึงเป็นเหตุทำให้ศาลภาษีพิพากษาให้กรมสรรพากรยกเลิกการประเมินภาษีทั้งสองคน

ทั้งๆ ที่เมื่อไปดูคำพิพากษาฎีกายึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ จะพบว่าอดีตนายกฯ ได้ต่อสู้ในประเด็นนี้ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกดำเนินคดียึดทรัพย์ และกรมสรรพากรยังมาเก็บภาษีหุ้นจากลูกสองคนที่เป็นทรัพย์ตัวเดียวกัน

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวของอดีตนายกฯ ฟังไม่ขึ้น เพราะว่าการเก็บภาษีเป็นไปตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 61 อยู่แล้ว กรมสรรพากรมีอำนาจที่จะดำเนินการ

ส่วนการยึดทรัพย์ เป็นการยึดทรัพย์จากเจ้าของตัวจริง จึงเป็นคนละเรื่องกับการเก็บภาษี

แต่ไม่ทราบว่าเหตุผลใด กรมสรรพากรจึงไม่นำคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไปสู้ในชั้นศาลภาษี เหมือนกับที่พานทองแท้และพินทองทาได้พยายามเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ

ทั้งๆ ที่เมื่อดูตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และอำนาจตามประมวลกฎหมายรัษฎากร การเดินหน้าเก็บภาษีจากพานทองแท้และพินทองทา จึงมีความเป็นได้มากกว่าการไปเก็บภาษีจากอดีตนายกฯ ทักษิณ

นี่คือระเบิดเวลาที่พร้อมจะถาโถมเข้าใส่คนในกระทรวงการคลัง