posttoday

แก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายยิ่งลักษณ์เสี่ยงอายุสั้น

18 สิงหาคม 2554

การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บรรจุให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บรรจุให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องทำภายในปีแรก โดยมีรายละเอียดว่า “จะเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐมีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งนี้ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ”

ถือเป็นความห้าวหาญของรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมสุ่มเสี่ยงได้รับการต่อต้านสูง และอาจนำพาไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองได้ และอาจทำให้อายุรัฐบาลยิ่งลักษณ์สั้นลง

จริงอยู่แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายในการหาเสียง แต่เมื่อสังคมเองต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้องมาก่อนเรื่องของการเมือง ขืนรัฐบาลเดินหน้าผลักดัน กระแสคัดค้านอาจขยายวงบานปลายได้

ยิ่ง นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ประกาศเริ่มกระบวนการแก้ไขหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้า โดยให้ทางพรรคเพื่อไทยเร่งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ยิ่งทำให้เกิดแรงต้านมากขึ้น

แก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายยิ่งลักษณ์เสี่ยงอายุสั้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นที่พรรคเพื่อไทยเตรียมการไว้ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เปิดประตูตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นแบบ และเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วก็นำมาทำประชามติอีกครั้งว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ เป็นขั้นตอนสุดท้าย

แนวทางนี้พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าจะเป็นไปได้และไม่ซ้ำรอยกับสมัยรัฐบาลของ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งต้องประสบกับชะตากรรมทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยไม่ได้เข้าภายในทำเนียบรัฐบาลอีกเลยนับตั้งแต่มีแนวคิดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยมีความเชื่อดังกล่าว ดังนี้

1.การทำประชามติ โดยจะเป็นเกราะกำบังและข้ออ้างสำคัญในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมาจากเสียงข้างมากของประชาชนไม่ใช่เป็นการดำเนินการโดยพลการของฝ่ายการเมืองเอง

2.การตั้ง ส.ส.ร. ชุดที่ 3 เป็นเครื่องการันตีว่ามีคณะบุคคลที่มาจากการเลือกกันเองของประชาชนที่มีความเป็นกลางเข้ามาดำเนินการยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยปราศจากมือที่มองไม่เห็นของนักการเมือง

3.ความถดถอยของกลุ่มการเมืองอำนาจเก่า มีการประเมินพลังของคนเสื้อเหลืองอยู่ในช่วงตกต่ำ โดยดูจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาซึ่งขาดความเป็นเอกภาพจนไม่สามารถมีเงื่อนไขได้ ดังนั้นถ้าเกิดแรงต่อต้านจากฝ่ายนี้ไม่น่าจะมีพลังพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เหมือนในอดีต

แต่ถ้ามองลึกเข้าไปแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยมีจุดประสงค์อยู่ที่การย้อนเวลาการเมืองให้กลับไปอยู่ที่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 หมายความว่า ทบทวนความมีอยู่ของบุคคลในตำแหน่งองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารในเวลานั้น และที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว องค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2550 จะต้องพ้นไป เพราะหากปล่อยให้องค์กรเหล่านั้นอยู่ต่อไปประเทศก็จะยังอยู่ใต้อิทธิพลอำมาตย์และคณะรัฐประหาร” เป็นท่าทีที่ออกมาจาก นพ.เหวง

ตรงนี้เองจะเป็นจุดเปราะบางที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการถอดรื้อองค์กรอิสระบางองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตนั้นกำลังจะเป็นบันไดขั้นแรกหรือไม่ ก่อนที่จะไปสู่บันได้ขั้นสำคัญ คือ การนิรโทษกรรมวีรกรรมของฝ่ายการเมืองที่ผ่านมา

รูปการที่ออกมาแบบนี้คงหนีไม่พ้นการยกเลิกมาตรา 309 ซึ่งหลักกิโลเมตรสำคัญที่ต้องยกเลิกให้ได้ เพราะมาตรานี้เป็นเกราะคุ้มกันคณะรัฐประหารและยังทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนมีภาระติดตัวจากบรรดาอรรถคดีอยู่มาก

สอดคล้องกับท่าทีของ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา ซึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตราดังกล่าว เพราะมองว่าบทบัญญัตินี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และได้ชี้ช่องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้จริงๆ ภายในเวลา 3 เดือน ด้วยการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ 2540 บางส่วนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลายกร่างกฎหมายทั้งฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น

“ผมมองในฐานะนักประชาธิปไตยคนหนึ่ง เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มันขัดกับหลักประชาธิปไตย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ มาตรา 309 แปลไทยเป็นไทย คือ คณะปฏิวัติพร้อมเครือข่ายทำอะไรก็ไม่ผิดทั้งอดีตปัจจุบันและอนาคต ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแน่นอน”

เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของพรรคเพื่อไทยที่ต้องตอบสังคมและสร้างความกระจ่างให้เป็นที่ประจักษ์ให้ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยนำโดย“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สุภาพสตรีผู้นำประเทศได้ผลิตคำพูดให้สังคมซึมซับและซาบซึ้งมาตลอดว่า “จะไม่ทำเพื่อคนคนเดียว แต่จะทำเพื่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ”

“ยิ่งลักษณ์” จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไรไม่ว่าจะเป็น “ความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า” “มีหลักประกันอะไรว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปเพื่อพี่ชาย” ยังไม่นับคำถามที่อาจตามมาอีกในอนาคตระหว่างการแสดงความพยายามเพื่อขอรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ

ถึงที่สุดแล้ว “ยิ่งลักษณ์” จะไม่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในเร็วๆ นี้ตามที่มีความเคลื่อนไหวภายในพรรค เพราะอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย และจะทำให้อายุสั้นโดยไม่จำเป็น และได้เห็นบทเรียนที่ผ่านมาแล้วว่าพรรคเคยมีชะตากรรมอย่างไรเมื่อแตะของร้อนโดยไม่จำเป็น แต่จะรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมมากกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าเวลาที่ว่านั้นจะมาเมื่อไหร่