posttoday

ขยายกรอบเงินเฟ้อชะลอขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าจึงจะเห็นผล

17 สิงหาคม 2554

เพียงวันแรกที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เข้าทำงาน ก็โชว์ความรู้ด้านนโยบายการเงิน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เพียงวันแรกที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เข้าทำงาน ก็โชว์ความรู้ด้านนโยบายการเงิน สมกับเป็นอดีตลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จริงๆ ที่รู้เรื่องนโยบายการเงินแบบทะลุปรุโปร่ง

ว่าแล้ว รมว.คลัง ก็ผ่าทางตันที่ไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยในประเทศพุ่งสูงจนเกินไป เป็นอุปสรรคทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยการใช้เทคนิคขยับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายการเงินให้กว้างขึ้น เพื่อให้แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะมีผลต่อการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ลดลง

วิธีการนี้ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.แต่อย่างใด แต่เป็นการยอมรับว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยับสูงขึ้นจากปัจจัยภัยธรรมชาติ จึงจะขยับกรอบเงินเฟ้อขึ้น

ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท. มองว่า ในหลักการอย่าลืมว่าหากกรอบเป้าหมายสูงขึ้น อาจจะมีผลให้คนคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ และถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้น การลงทุน การบริโภคในประเทศ การจ้างงานในอนาคตอาจจะกระทบได้ง่ายขึ้น

แต่ข้อเท็จจริงของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น กรอบเงินเฟ้อจะอยู่บนการหารือและตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย การจะขยับปรับเปลี่ยนทั้งสองฝ่ายก็จะมาหารือร่วมกัน ซึ่งจะมีการหารือกันปีละครั้งในช่วงปลายปี

ขยายกรอบเงินเฟ้อชะลอขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าจึงจะเห็นผล

เมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า มองว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3% ในปัจจุบัน มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ก็ควรต้องฟัง รมว.คลังคนใหม่ด้วยว่ามีเหตุผล มีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.พร้อมจะพูดคุยกับทางกระทรวงการคลัง

“ธปท.เรายืนยันว่ากรอบที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ถือว่าเหมาะสม กับสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ แต่เราก็พร้อมจะคุย” นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะเห็นว่าการใช้เทคนิคขยับเป้าเงินเฟ้อเพื่อให้ดอกเบี้ยชะลอการเป็นขาขึ้นออกไป ก็เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากนโยบายของพรรคเพื่อไทยแต่ละด้านล้วนเป็นโครงการเสริมค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ปริญญาตรีเรียนจบจะได้เงินเดือนแรกเข้า 1.5 หมื่นบาท การลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาน้ำมันปรับลดลงมา การดูแลราคาสินค้า บัตรเครดิตชาวนา ฯลฯ

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลทำตามนโยบายระยะสั้นได้ครบถ้วน จะทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ถึง 1%

ฉะนั้น ชัดเจนว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเสถียรภาพการคลังที่ รมว.คลัง กล่าวว่า จะพยายามทำให้ทั้งสองสิ่งกลมกลืนกัน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ทั้งสองเรื่องเดินไปด้วยกัน เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งกระตุ้นเงินก็จะยิ่งเฟ้อ และ กนง.ก็จะใช้นโยบายการเงินเข้มข้น คือ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเบรกการขยายตัวของเงินเฟ้อ

เห็นได้จากการที่ กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 8 ครั้ง นับจากเดือน ก.ค. 2553 จนทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ในระดับ 3.75% ส่วนการประชุม กนง. จะประชุมครั้งต่อไปถูกกำหนดไว้ในวันที่ 24 ส.ค.นี้

แหล่งข่าวจาก ธปท. มองว่าการขยับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนั้นคงจะยังไม่มีผลอะไรในปีนี้ เพราะโดยกฎหมายแล้วการทบทวนกรอบเงินเฟ้อจะทำปีละครั้ง ฉะนั้นการหารือระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท.จะไปมีผลต่อกรอบเงินเฟ้อในปีหน้า

อย่างไรก็ดี การส่งสัญญาณของ รมว.คลัง อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ที่จะมีการประชุมอีก 2-3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจจะคงดอกเบี้ยมากกว่าจะขยับดอกเบี้ย หรือในทางตรงกันข้ามก็อาจจะเพิ่มให้สูงไปเลยทีเดียว เป็นการขึ้นเพื่ออนาคต หากมองว่าเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ

การที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย หรือจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมนั้น ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง หากนโยบายรัฐบาลยังคงเห็นกับการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเสถียรภาพ และยังคงมีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจไม่หยุด กนง.ก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ย

ในขณะเดียวกัน หากกระทรวงการคลังทำท่าว่าจะดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช้เงินหวือหวาไร้ประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความไม่มั่นใจเรื่องเงินเฟ้อ กนง.ก็อาจจะคงดอกเบี้ย เพราะคลายกังวลใจในเรื่องการคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอนาคต

ฉะนั้น การที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย หรือจะคงดอกเบี้ย ก็อยู่ที่ท่าทีของรัฐบาลเองว่าจะรักษาวินัยทางการคลังหรือไม่ และภาวะเศรษฐกิจโลกด้วยว่าเอื้ออำนวยให้หยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

แต่ในมุมมองของนายแบงก์ก็มีความกังวล โดย ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเตือนรัฐบาลว่า การกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะต้องดูตามพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกควบคู่กันไปด้วย หากเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเทศไทยจะขยายกรอบเงินเฟ้อ ก็จะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ หรือทำให้เสถียรภาพทางการเงินด้อยลง

ชาติชาย เชื่อว่า ในที่สุดแล้วกระทรวงการคลังและ ธปท. จะสามารถหาจุดสมดุลร่วมกันได้

และในมุมของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ากระทรวงการคลังควรหารือกำหนดเป้าหมายการเงินการคลังให้สอดคล้องกับ ธปท. ไม่ควรเอานโยบายของรัฐบาลไปบีบ ธปท. เพราะสุดท้ายจะทำให้เกิดความขัดแย้ง

หากมองถึงความเป็นไปได้ หากขยายเป้าเงินเฟ้อแล้ว กนง.ก็ยังขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดเพราะรัฐบาลยังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หากจะให้ดอกเบี้ยหยุดขึ้น รัฐบาลก็ยังมีทางออกที่รัฐจะทำได้อีกทางหนึ่ง ที่เชื่อว่า รมว.คลัง ก็มองเห็นในฐานะที่เคยกำกับดูแลสถาบันการเงินมาก่อน คือ การดำเนินนโยบายบีบรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยรับและจ่ายของธนาคารพาณิชย์ลง ด้วยการให้ขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและให้คงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้

ในเรื่องนี้หากรัฐจะทำก็จะไม่กระทบกับตลาดมากนัก มีเพียงธุรกิจธนาคารและผู้ถือหุ้นที่อาจจะไม่ชอบใจ เพราะจะส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของธนาคาร

จากการเปิดเผยของ ธปท. ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรรวมกันมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ รายได้จากดอกเบี้ยขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากไป 0.9%

แต่ขณะนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากก็เริ่มขยับใกล้กันมากขึ้น เพราะการแข่งขันระดมเงินฝากทำให้ธนาคารแข่งขันออกเงินฝากพิเศษดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นการระดมเงินฝากเฉพาะกิจ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 0.870-0.875% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ และผู้ที่ฝากเงินฝากออมทรัพย์คือกลุ่มคนรากหญ้า

ด้วยเหตุผลและหลากมุมมอง มีความเป็นไปได้สูงว่า กนง.จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในช่วงที่เหลือของปี เพราะเมื่อมองกลับไปยังนโยบายประชานิยมของรัฐบาลแล้ว ธปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อนุรักษนิยมมองด้านเสถียรภาพมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็ยังเป็นห่วงว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังมีปัญหาจากเงินเฟ้อสะสมอยู่

และการคาดหวังว่าจะใช้วิธีการขยายกรอบเงินเฟ้อเพื่อชะลอการขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องไปทำในปีหน้า เพราะกว่า รมว.คลัง กับผู้ว่าการ ธปท. จะหารือกันและตกลงกันได้ ก็ปาเข้าไปไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ซึ่งเป็นการหารือเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 พอดี

ดังนั้น การที่ประชาชนจะหวังว่าดอกเบี้ยจะไม่ขยับขึ้นอีก ก็ต้องไปหวังในปีหน้า ส่วนเวลาที่เหลืออีก 4 เดือนนี้ ก็อาจจะต้องผจญกับปัญหาดอกเบี้ยสูงต่อไป เพราะหลายธนาคารก็แบะท่าออกมาแล้วว่าอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้บ้านแบบคงที่อีก 0.25% ตามต้นทุนทางการเงิน