posttoday

หล่อใหญ่-หล่อเล็กสูตรใหม่ยกเครื่อง ปชป.

27 กรกฎาคม 2554

หลังฝุ่นหายตลบชื่อของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ก้าวกระโดดมาแรงแซงแคนดิเดตคนอื่นๆ

หลังฝุ่นหายตลบชื่อของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ก้าวกระโดดมาแรงแซงแคนดิเดตคนอื่นๆ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หลังฝุ่นหายตลบชื่อของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ก้าวกระโดดมาแรงแซงแคนดิเดตคนอื่นๆ จ่อขึ้นแท่นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

ปัจจัยสำคัญหนีไม่พ้น “แรงหนุน” จาก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ประกาศไม่รีเทิร์นเก้าอี้แม่บ้าน ขอหลบไปอยู่หลังฉากกับภารกิจใหม่ “โรงเรียนประชาธิปัตย์” ติวเข้ม สส.ใหม่

มองกันว่าการดัน “อภิรักษ์” ขึ้นมาเที่ยวนี้ เป็นหนึ่งในการวางทายาทสืบทอดอำนาจของ “สุเทพ” ที่ไม่อาจตัดใจวางมือได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อย้อนดูความสัมพันธ์ “อภิรักษ์สุเทพ” จากสถานะศิษย์พี่ศิษย์น้องร่วมสำนักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำงานเข้าขาถึงขั้นถูกปลุกปั้นปูทางการเมืองด้วยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และงานสำคัญอื่นๆ ในพรรค

การไว้วางใจถึงขั้น “ส่งไม้ต่อ” มอบเก้าอี้เลขาธิการพรรคให้ “อภิรักษ์” ไปดูแลในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงต้องการคนที่ไว้อกไว้ใจได้ว่าจะไม่นำพรรคที่ปลุกปั้นมาตกต่ำลงไปกว่าเดิม

จากเดิมที่มีเสียงฮึ่มฮั่ม...ตีกัน “อภิรักษ์” โดยหยิบยกเรื่องโควตาภาคใต้ พร้อมดัน วิทยา แก้วภราดัย ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มาทวงสิทธิ สส.ใต้

ทว่า หลังเปิดบ้านพักที่สุราษฎร์ธานีของ “สุเทพ” เสียงหลัง “ล็อบบี้” สส.ภาคใต้ส่วนใหญ่เดินหน้าหนุน “อภิรักษ์” เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ขณะที่แคนดิเดตคนอื่นๆ จะต้องไปเบียดกันในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และตำแหน่งอื่นๆ ในกรรมการบริหารพรรค

หล่อใหญ่-หล่อเล็กสูตรใหม่ยกเครื่อง ปชป.

 

อีกด้านหนึ่ง บางกลุ่มก๊วนในพรรคที่เริ่มขยับเตรียมขัดขา “อภิรักษ์” ล่าสุด สส. ผู้สมัคร และประธานสาขาพรรคได้นัดหารือกันที่ศูนย์วัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ ดึงคนนอกเป็นเลขาฯ ต้องรอดูว่าจะสร้างกระแสได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน คู่หู “หล่อใหญ่หล่อเล็ก” เป็นตัวเต็งที่เป็นกำลังสำคัญนำพาประชาธิปัตย์เดินหน้าปฏิรูปพรรคต่อไป ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์อีกรอบ

จากคู่หู หยินหยาง “อภิสิทธิ์สุเทพ” แบ่งบทบาททำงานชัดเจน บุ๋นบู๊ สนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน ว่ากันว่าเป็นคู่ที่ลงตัวที่สุดคู่หนึ่ง

การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคจาก “สุเทพ” มาเป็น “อภิรักษ์” ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาพความทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงความ “ดุดัน” และการเมืองแบบโบราณที่จะค่อยๆ หายไป

เรื่องคอนเนกชันที่จัดเป็นจุดแข็งของ “สุเทพ” จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดการรัฐบาลเมื่อสมัยที่ผ่านมา แม้จะวางมือไปแล้ว แต่อย่างไรก็ยังต้องอยู่เป็นตัวประสานหลังฉากช่วยประคอง “อภิรักษ์” อยู่ดี

ประสบการณ์ที่ผ่านมา “อภิรักษ์” เรียนรู้งานการเมือง งานบริหาร ผ่านตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถึง 2 สมัย ที่สร้างผลงานและคอนเนกชันไว้ได้ไม่น้อย ไปจนถึงการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประสบการณ์จากตำแหน่งผู้บริหารภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทำให้ “อภิรักษ์” เป็นที่รู้จักในภาคธุรกิจและกลุ่มทุนต่างๆ ในระดับชั้นนำของประเทศ

จนผลงานล่าสุดกับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง กทม. ที่ประชาธิปัตย์ ฉีกผลโพล ฝ่ากระแสร้อนแรงของเพื่อไทย กวาดมาถึง 23 เขต จาก 33 เขต

งานถนัดด้าน “โซเชียลมีเดีย” ที่ว่ากันว่าเป็น “หมัดเด็ด” เจาะกลุ่มเป้าหมายสร้างเครือข่ายในการเลือกตั้งเที่ยวนี้แล้ว อีกด้านหนึ่งที่เป็นผลงานสำคัญของ “อภิรักษ์” ที่จะได้นำมาขยายผลต่อไปในภาพใหญ่ระยะเวลาต่อจากนี้

ที่สำคัญด้วยสไตล์การทำงานที่ผ่านมา “อภิรักษ์” สามารถเข้ากับทุกกลุ่มก๊วนในพรรคไม่มีปัญหา การได้แรงหนุนจากฝั่ง “สุเทพ” ย่อมทำให้การทำงานในพรรคราบรื่น รวมทั้งไม่มีแผล หรือบอบช้ำจากทางการเมือง

มีเพียงปมปัญหาเดียวที่เป็นชนักปักหลัง “อภิรักษ์” คือ คดีรถและเรือดับเพลิง ถึงขั้นต้องโชว์สปิริตลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 และตามหลอกหลอนมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งในจังหวะที่กำลังจะเลือกตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วยแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งฟ้อง “อภิรักษ์” และ 5 จำเลย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 24 ส.ค.นี้

ทว่า เรื่องนี้ดูจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะขวาง “อภิรักษ์” ขึ้นตำแหน่งเลขาฯ ได้ เมื่อว่ากันว่าครั้งนั้นที่ “อภิรักษ์” เดินหน้าสานต่อโครงการรถดับเพลิง ท่ามกลางเสียงค้านจากในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ “ไฟเขียว” จากแกนนำบางคนในพรรคแล้ว

ประเด็นเรื่องคดีนี้ทางพรรคพยายาม “ตัดตอน” ว่าเป็นเรื่องของสมัยเมื่อยังดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นผู้ว่าฯ กทม. และแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกแล้ว งานนี้เป็นคนละส่วนกันกับตำแหน่งเลขาธิการพรรค

หลัง ป.ป.ช.มีมติสั่งฟ้อง “อภิรักษ์” หอบเอกสารชี้แจงยืนยันความบริสุทธิ์ ยกเหตุผลว่าสัญญาดังกล่าวไปจนถึงการแจ้งให้ธนาคารกรุงไทยเปิดแอล/ซี ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. 2547 ก่อนที่เขาจะมารับตำแหน่งแล้ว

อีกทั้งอนุกรรมการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีความเห็นว่าไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต รวมทั้งอัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะเห็นว่าไม่มีเจตนาในการเปิดแอล/ซี

แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลของคดีนี้คงอีกนานกว่าจะเห็นว่าสุดท้ายจบลงที่ใด ทว่าหาก “อภิรักษ์” ฝ่าด่านเก้าอี้เลขาธิการพรรคครั้งนี้ไปได้ งานนี้ย่อมปูทางยาวสู่เก้าอี้หัวหน้าพรรคในอนาคต