posttoday

งานใหญ่รัฐบาลเพื่อไทยรื้องบประมาณปี'55

26 กรกฎาคม 2554

ถ้อยแถลงของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ว่าที่รัฐมนตรี หนึ่งในทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.)

ถ้อยแถลงของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ว่าที่รัฐมนตรี หนึ่งในทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.)

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ถ้อยแถลงของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ว่าที่รัฐมนตรี หนึ่งในทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของรัฐบาลหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีการรื้อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ทั้งหมด และให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนปฏิบัติการใหม่หมด

แน่นอนว่า การประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ของรัฐบาลจะต้องล่าช้าออกไปไม่น้อย เงินลงทุนภาครัฐสะดุดกึก

เพราะตามกฎหมายนั้น หากงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ผ่านรัฐสภา รัฐบาลทำได้แค่เบิกจ่ายงบในหมวดค่าใช้จ่ายประจำตามกรอบปีงบประมาณก่อนหน้าเท่านั้น

ดังนั้น ในระยะอันใกล้เรื่อยไปจนถึงเดือน ธ.ค.-ม.ค. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่มีทางใช้เงินมาลุยไถนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนแน่นอน

หากพิเคราะห์จากน้ำเสียงของ “เสือปลอด” ที่ระบุเสียงดังฟังชัดนั้น จะเห็นร่องรอยวิธีคิด...และปัญหาที่ตามมาอีกร้อยแปด

“เรารื้อทิ้งล้านเปอร์เซ็นต์แน่ แต่ของดีของ ปชป. เราจะเอามาปรับปรุงใหม่ เช่น เบี้ยคนชรา เราก็จะเอามาทำตามแบบของเรา ซึ่งในที่ประชุม ครม.ครั้งแรก เราจะพูดกันว่ายอดเงินที่เหลืออยู่มีเพียงเท่านี้นะ และบอกให้ประชาชนรู้ข้อจำกัด เพราะในขณะนี้ พท.หนักใจมาก เพราะอาจเหลืองบไม่พอที่จะนำมาใช้กับโครงการที่ได้หาเสียง เนื่องจาก ปชป.ผลาญไปมากพอควร ทำงบผูกพันระเบิดเถิดเทิง และก็มีที่เริ่มใช้ไปแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร”

ตรงนี้ต่างหากที่อาจนำมาซึ่งปัญหาตัวใหญ่ จากการสั่งโละ รื้อ งบประมาณกันแบบเต็มเหนี่ยว

งานใหญ่รัฐบาลเพื่อไทยรื้องบประมาณปี'55

ทั้งนี้ หากพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่รัฐบาลที่แล้วกำหนดกรอบไว้จะพบเห็นร่องรอยของปัญหา

วงเงินของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีทั้งสิ้น 2.25 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2554 ถึง 2.5 แสนล้านบาท เป็นงบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท

โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย มีดังนี้

1.รายจ่ายประจำ 1,820,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2554 จำนวน 158,831 ล้านบาท

2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีการตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2555 เนื่องจากได้เสนอตั้งงบประมาณไปแล้วในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 84,142.6 ล้านบาท

3.รายจ่ายลงทุน 382,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2554 จำนวน 36,893 ล้านบาท

4.รายจ่ายชำระคืนเงินต้นเงินกู้ 47,186.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2544 จำนวน 14,631.8 ล้านบาท

5.ด้านรายได้สุทธิมีจำนวนทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท

6.งบประมาณขาดดุลจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2554 ที่ขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท จำนวน 7 หมื่นล้านบาท

7.งบประมาณในปีนี้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 200,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2554 ที่ได้จัดสรรให้ไป 173,950 ล้านบาท เป็นจำนวน 26,450 ล้านบาท

กรอบจำนวนเงินของรัฐบาลมีแค่นี้

แต่เมื่อสอบถามจากสำนักงบประมาณในรายละเอียดว่า รัฐบาลใหม่สามารถจัดการเกลี่ยงบประมาณอะไรได้บ้างก็ต้องสะดุ้งโหยง

เนื่องเพราะในการจัดสรรงบประมาณ 2555 ได้จัดสรรปันส่วนออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

1.รายจ่ายประจำ เช่น หมวดเงินเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าเช่าสถานที่ มีวงเงินประมาณ 8.42 แสนล้านบาท

2.รายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 2 แสนล้านบาท

3.รายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชดเชยเงินคงคลัง 8.4 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนนี้ ครม.อนุมัติให้ตั้งงบประมาณเพิ่มเติมปีงบ 2554 ชดเชยไว้แล้ว

4.งบผูกพันตามสัญญา เช่น การสร้างตึก สร้างถนน การลงทุนอื่นๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท

5.รายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาล เช่น โครงการอาหารกลางวัน โครงการนมโรงเรียน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ และโครงการประกันรายได้คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท

6.รายจ่ายที่ส่วนราชการขอจัดสรรเพื่อการลงทุนและดำเนินการโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดวงเงิน โดยจะอยู่ในกรอบร่วม 4-6 แสนล้านบาท

สำนักงบประมาณอรรถาธิบายว่า ถ้าหากรวมรายจ่ายทั้งงบประจำ รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ งบผูกพันตามสัญญา และรายจ่ายตามนโยบายรัฐยอดเงินทั้งสิ้นจะอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ทำให้เหลือเม็ดเงินที่ส่วนราชการต่างๆ จะขอรับการจัดสรรเพื่อใช้ลงทุน หรือดำเนินการโครงการใหม่มีแค่ 4-6 แสนล้านบาทเท่านั้น

7.ยังมีเม็ดเงินที่ส่วนราชการได้รับการจัดสรรเงินไปแล้ว แต่ใช้ไม่หมด และต้องกันไว้เป็นงบเหลื่อมปี ซึ่งค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549-2553 ส่วนราชการทั้งระบบมีงบเหลื่อมปีค้างอยู่ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ยังไม่มีการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพัน 8 หมื่นล้านบาท

จะเห็นได้ว่า เหลืองบประมาณที่รัฐบาลใหม่จะรื้อได้จริงรวมถึงงบผูกพันจะมีไม่เกิน 4-6 แสนล้านบาทนี่แหละ

ส่วนงบในโครงการลงทุนรายกระทรวงนั้นคงเข้าไปปรับรื้อยากมาก

กรณีของงบกระทรวงคมนาคม ที่ทำเสนอขอรับการจัดสรรไป 235,387 ล้านบาท นั้นอาจจะทำได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะในจำนวนนั้น กรมทางหลวงขอไป 93,130 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 49,547 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบรัฐวิสาหกิจ

ครั้นจะไปกวาดงบกระทรวงศึกษาธิการก็ยากเต็มกลืนยกเว้นจะไป ปรับงบในโครงข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษาครอบคลุมโรงเรียนประจำตำบล 7,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นงบผูกพัน 3,000 ล้านบาท มาแจกแท็บเล็ต

อีกทั้งหากไปแตะงบของกระทรวงกลาโหมเสนอขออนุมัติงบประมาณปี 2555 และผ่านการอนุมัติแล้วด้วยวงเงิน 177,480 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทัพบก 86,663 ล้านบาท กองทัพเรือ 34,932 ล้านบาท กองทัพอากาศ 33,684 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 14,156 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 6,290 ล้านบาท กรมราชองครักษ์ 699.98 ล้านบาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม 1,053 ล้านบาท ก็ใช่ที่

ไปยุ่มย่ามกับงบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร วงเงิน 3,000 ล้านบาท ระยะ 4 ปีก็ทำให้อึดอัด

หรือไปรื้อการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณในการจัดซื้อรถถัง เอ็ม 41 จำนวน 49 คัน วงเงิน 7,155 ล้านบาท ก็ยากเย็น เพราะนั่นเท่ากับว่าไปเพาะความรู้สึกที่ไม่ดีกับกองทัพ

จะไปขวางงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 280,793 ล้านบาทเศษก็คงไม่ดี

เพราะกว่า 90% ของงบนั้นจำกัดวงแคบในเรื่องการซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นและงบประจำ

มีแต่งบในโครงการพัฒนา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ 9,750 แห่ง วงเงิน 2,670 ล้านบาท กับงบประมาณให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยภูมิภาคของกระทรวงฯ 2,652 ล้านบาท เฉลี่ยจังหวัดละ 35 ล้านบาท และงบลงทุนในการก่อสร้างอาคารสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ 10,530 ล้านบาท ที่เป็นงบลงทุนในปีเดียวจบ 7,477 ล้านบาท กับงบผูกพันใหม่ 3,053 ล้านบาท และมีงบครุภัณฑ์อีก 3,674 ล้านบาท เท่านั้นที่พอเตะได้

แต่การยุ่งกับหมอ พยาบาลนั้นรัฐบาลมีแต่พังกับพัง

ครั้นจะไปจุ้นกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน ก็กระทบกับคน 6,885,339 คน

ถึงที่สุดแล้วแม้แกนนำพรรคเพื่อไทยจะตั้งลำมาเพื่อปรับรื้องบประมาณ แต่พอปฏิบัติจริงอย่างดีก็แค่โยกงบในบางโครงการ เช่น โครงการประกันรายได้ และงบลงทุนในบางโครงการ แต่จะรื้อทั้งกะบิคงเป็นเรื่องยาก