posttoday

เสื้อแดงอาละวาดหนามยอกอกยิ่งลักษณ์

25 กรกฎาคม 2554

ชั่วโมงสำหรับว่าที่ผู้นำสตรีหมายเลข 1 ของเมืองไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ศึกนอกว่าหนักแล้ว

ชั่วโมงสำหรับว่าที่ผู้นำสตรีหมายเลข 1 ของเมืองไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ศึกนอกว่าหนักแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ชั่วโมงสำหรับว่าที่ผู้นำสตรีหมายเลข 1 ของเมืองไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ศึกนอกว่าหนักแล้ว แต่ศึกในนั้นหนักยิ่งกว่าและแถมยังเป็นเรื่องยากต่อการควบคุมไม่ให้บานปลายจนกลายเป็นปัญหาลุกลามเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต

เอาแค่ศึกนอก ณ เวลานี้ยังไม่ทันจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก็เจอพายุไต้ฝุ่นโหมกระหน่ำแทบไม่ต่างอะไรกับบททดสอบชีวิตครั้งสำคัญ โดยเฉพาะสภาวะภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาเดินหน้าชนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไม่ขาดระยะ เช่นเดียวกับการประกาศจะขึ้นเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ให้ผู้จบปริญญาตรี ซึ่งภาคธุรกิจก็ต่างส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยอย่างชัดถ้อยชัดคำ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มทุนที่พรรคเพื่อไทยต้องเกรงอกเกรงใจเสียด้วย

ทำให้พรรคเพื่อไทยเริ่มขยับส่งสัญญาณถอยด้วยการระบุว่า อาจจะทำได้แบบมีเงื่อนไข

ไม่เพียงเท่านี้ยังเริ่มเปิดศึกกับองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมภายหลังองค์กรเหล่านี้ออกมาปฏิเสธโครงการถมทะเลของพรรคเพื่อไทย ตามแนวไอเดีย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” โดยเดิมพรรคเพื่อไทยคาดหวังว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อเกิดแรงต่อต้าน “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองหัวหน้าพรรค จึงลดท่าทีแข็งกร้าวลงด้วยการเสนอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบ ถึงจะดำเนินการได้

เสื้อแดงอาละวาดหนามยอกอกยิ่งลักษณ์

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นฉากแรกของศึกนอกที่พรรคเพื่อไทยและ ยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญ แต่ศึกในก็ใช่ว่าจะสงบราบเรียบ เนื่องจากเริ่มมีอาการปะทุขึ้นให้เห็นเป็นระยะเช่นกัน เมื่อกำลังจะเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ ไม่ต่างอะไรกับการอยากได้ส่วนแบ่งในทางอำนาจมาบ้างในฐานะเป็นเจ้าคุณนายคุณกันมาก่อน

ความลำบากใจของ ยิ่งลักษณ์ มากที่สุดคือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังจากออกอาการหัวเสียหลายครั้งเนื่องจากไม่พอใจเมื่อว่าที่ สส.สาย นปช.พรรคเพื่อไทยทั้ง 12 คน ยังได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ครบ

ท่าทีที่ออกมาของแกนนำเสื้อแดงถ้าเป็นแบบหอมปากหอมคอก็น่าจะพอทำเนา ตรงกันข้ามกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำเสื้อแดงคนสำคัญได้แสดงออกมาประหนึ่งเป็นการกดดันยื่นคำขาดให้ กกต.ต้องรับรองความเป็น สส. ภายใน 30 วัน

มิเช่นนั้นจะมีการกำหนดท่าทีเคลื่อนไหว

กลายเป็นว่าแกนนำเสื้อแดงกำลังใช้มวลชนมากดดันการทำงานของ กกต.เหมือนที่เคยใช้เมื่อครั้งยกพลบุกเข้าไปภายในสำนักงาน กกต. เพื่อกดดันคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างการชุมนุมของ นปช. เมื่อปี 2553

เกิดแรงต่อต้านอย่างมากภายหลัง นปช.ได้แสดงท่าที “ต่อรอง” ออกมา พรรคเพื่อไทยหนีไม่พ้นที่ต้องรับภาระนี้ไปเต็มๆ ในฐานะให้ นปช.อาศัยเป็นชายคาคุ้มกันภัย ก่อนที่อะไรจะบานปลายและส่งผลเสียต่อพรรค “ยิ่งลักษณ์” จึงต้องออกโรงส่งสัญญาณปรามทันที

“อยากให้ทุกคนรอผลของ กกต. ไม่อยากให้ออกมากดดันการทำงาน เชื่อว่า กกต.จะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย อยากให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อยไม่น่าเกิดการเคลื่อนไหวหรือเกิดเหตุการณ์แบบนั้น วันนี้ประเทศต้องการเดินไปข้างหน้า เรามาพูดกันถึงอนาคตว่าประเทศควรเป็นอย่างไร”

โชคดีที่การออกมาดับไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไป เนื่องจาก นปช.เองก็พยายามต่อรองเรื่องตำแหน่งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ภายในอย่างไม่ลดละ

ความพยายามแรกจาก นปช.ต้องการผลักดันให้ “พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย” สส.บัญชีรายชื่อ ได้ตำแหน่งประธานรัฐสภา เพราะเล็งเห็นว่าเคยมีผลงานจากการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน

แต่กระนั้น “ยิ่งลักษณ์” ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะในใจได้เลือกแล้วว่าต้องการให้ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” สส.ขอนแก่น ทำหน้าที่นี้ เนื่องจากมีภาพลักษณ์ดีกว่า พ.อ.อภิวันท์ ที่ก่อนหน้าอดีตรองประธานสภาสายแดงเคยแสดงท่าทีทั้งในและนอกสภาเรียกแขกมาหลายครั้ง ในภาวะที่พรรคเพื่อไทยต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะให้มากที่สุดรองรับการปรองดอง ชื่อ “สมศักดิ์” ซึ่งเคยเป็นรองประธานสภาเช่นกัน จึงกระโจนขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติในดวงใจของ ยิ่งลักษณ์ ไปในชั่วโมงนี้อย่างมิต้องสงสัย ขณะที่การจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีปัญหาไม่เบา เมื่อหลายกลุ่มการเมืองในพรรคเพื่อไทยซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย ต้องการแบ่งสรรตำแหน่งให้กลุ่มตัวเอง เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้เป็น สส.ไม่ละความพยายาม เพราะมองว่าสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยให้ “กษิต ภิรมย์” ที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นเวทีเสื้อเหลืองเข้ามาเป็นถึงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เช่นเดียวกับกรณีของ “จักรภพ เพ็ญแข” ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไม่ต่างกัน

ในเมื่อคิดบนฐานนี้บรรดาแกนนำเสื้อแดงจึงมองว่าทำไมจะเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ จึงได้ปรากฏชื่อทั้ง “จตุพร พรหมพันธุ์” “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ออกมาเป็นระยะ

แต่ชื่อเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้จัดการรัฐบาลตัวจริงมากเท่าใดนัก

เหนืออื่นใดปัญหาการจัดสรรตำแหน่งคงยังไม่หนักใจเท่ากับเรื่อง “ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553” เพราะเชื่อได้เลยว่าบรรดาแกนนำเสื้อแดงทั้งในและนอกสภาจะต้องออกมาทวงถาม “ยิ่งลักษณ์” อย่างแน่นอน ถึงมาตรการในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการหาผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะโยนไปให้กับคณะทำงานของ “คณิต ณ นคร” เป็นตัวกลางในเรื่องนี้ แต่อาจจะไม่ใช่คำตอบที่คนเสื้อแดงต้องการ

สิ่งที่พลพรรคเสื้อแดงต้องการมากที่สุดคือ “การเช็กบิล” แต่มีคำถามว่า ยิ่งลักษณ์ จะตอบโจทย์นี้อย่างไร เพราะถ้าทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องเจอปัญหาแทบทั้งสิ้น

ถ้าตอบสนองอย่างที่คนเสื้อแดงร้องขอ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการเข้าไปแตะ “กองทัพ” ซึ่งชั่วโมงนี้ถ้าเลือกได้ ยิ่งลักษณ์ เองก็ย่อมไม่อยากเปิดประเด็นใหม่ เพราะไม่ต้องการเอาเสถียรภาพของรัฐบาลไปแขวนไว้บนเส้นด้ายโดยไม่จำเป็น

ครั้นจะไม่ทำอะไรมวลชนย่อมจะต้องส่งสัญญาณออกมากดดันรัฐบาล ปล่อยนานไปเสื้อแดงอันเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยอาจจะกระเทือนได้ เหมือนกับที่ประชาธิปัตย์เคยเจอฤทธิ์เดชของคนเสื้อเหลืองมาแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นความท้าทายสำคัญว่าจะผ่านพ้นวิกฤตภายในไปอย่างไรให้ตลอดรอดฝั่ง