posttoday

มาร์ครีเทิร์น ภารกิจหินยกเครื่อง ปชป.

22 กรกฎาคม 2554

ความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของ “ประชาธิปัตย์” จนทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบ

ความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของ “ประชาธิปัตย์” จนทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบ

กำลังกลายเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่กรรมการบริหารพรรคชุดต่อไปต้องขบคิดอย่างหนักกับการนำพาพรรคเก่าแก่กว่า 65 ปี ลงสนามอีกครั้งใน 4 ปีข้างหน้า หรืออาจจะมาถึงเร็วกว่านั้น

น่าคิดว่าในวันที่ “โอกาส” อยู่ใกล้กว่าการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่ประชาธิปัตย์กลับไม่สามารถคว้าโอกาสตรงนั้นได้ ทำได้เพียงแค่ 159 ที่นั่ง ตามหลังเพื่อไทยที่กวาดไปถึง 265 เก้าอี้

ต้องยอมรับว่า พื้นที่ชี้ขาดว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ยังอยู่ที่ “อีสาน” พรรคการเมืองไหนปักธงในอีสานได้มาก โอกาสจะชนะการเลือกตั้งย่อมมีมากเท่านั้น

ทว่าจากฐานเดิม 5 ที่นั่ง ที่ประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือว่าเที่ยวนี้จะกวาด สส.เพิ่มขึ้นให้ได้อีกเท่าตัวเป็น 10 ที่นั่ง แต่เอาเข้าจริงกลับเหลือ สส. อีสานเพียงแค่ 4 ที่นั่ง

พื้นที่อีสานยังคงเป็น “จุดอ่อน” ที่ตามหลอกหลอนประชาธิปัตย์อย่างไม่อาจแก้ไขได้!!!

งานนี้ “ประชาธิปัตย์” รู้ตัวดี พร้อมหาทางออกเฉพาะหน้าในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาด้วยการไปยืมจมูกพรรคอื่นหายใจ

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2550 “ประชาธิปัตย์” หวังพึ่ง “เพื่อแผ่นดิน” เป็นตัวแทนเจาะพื้นที่อีสานและเหนือ พร้อมตั้งเป้าว่าจะได้เสียงเพียงพอจะผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายเพื่อแผ่นดินไม่อาจฝ่ากระแสทักษิณเข้ามาได้ จนต้องไปร่วมกับพลังประชาชนตั้งรัฐบาลปล่อยประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านต่อไป

ถัดมาเลือกตั้งปี 2554 “ประชาธิปัตย์” หมายมั่นปั้นมือกับ “ภูมิใจไทย” เป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าจะอาศัยฝีมือ “เนวิน ชิดชอบ” แบ่งพื้นที่อีสานจากเพื่อไทย แต่สุดท้ายทั้งสองพรรคก็กลับต้องมากอดคอเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน

มาร์ครีเทิร์น ภารกิจหินยกเครื่อง ปชป.

แผนยืมจมูกคนอื่นหายใจ จึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้ตัวแทนจากภาคอีสานออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พรรคเร่งปฏิรูปโครงสร้างใหม่ เร่งทำพื้นที่อีสานเป็นการเร่งด่วน

อีกปัจจัยที่ “ประชาธิปัตย์” วิเคราะห์ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้การเลือกตั้งคือ ช่องทางการสื่อสาร เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าขบวนการป่วนของเสื้อแดง ทำให้การลงพื้นที่ของ “อภิสิทธิ์” ช่วยผู้สมัครหาเสียงไม่สามารถทำได้เต็มที่

ที่ผ่านมา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เคยผุดไอเดียทำ “ทีวีสีฟ้า” เป็นทางออกเพื่อสื่อสารตรงลงพื้นที่สู้กับ “ทีวีสีแดง” ที่แทรกซึมอยู่ในพื้นที่อันเป็นช่องทางสำคัญการป้อนชุดข้อมูลต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพช่องทางหนึ่ง ทว่าสุดท้ายเมื่อถูกหลายเสียงจากในพรรคเบรก เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการผิดกฎหมายเลือกตั้งโครงการนี้จึงถูกพับไปในที่สุด

อีกปัจจัยสำคัญที่วิเคราะห์ว่า ทำให้ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งคือความแตกแยกภายในพรรค การเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ของพรรค ที่ผ่านมาจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวอย่างมีเอกภาพ

ที่สำคัญเสียงสะท้อนจากในพรรคยังเห็นว่าการขับเคลื่อนพรรคตั้งแต่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดูจะผูกขาดอยู่เพียงแค่กลุ่มคนรอบตัว “อภิสิทธิ์” 45 คน ขาดการรับฟังจากสมาชิกในพรรค

ดังจะเห็นจากเสียงสะท้อนในช่วง “ฝุ่นตลบ” ระหว่างการสรรหากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ต้องการให้ยกเครื่องพรรคครั้งใหญ่ เตรียมความพร้อมสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะยากยิ่งกว่าครั้งนี้

ที่ชัดเจนคือ ต้องการให้กลุ่มอำนาจในพรรคกันใหม่เปิดทางให้มีช่องทางการสื่อสาร เสนอความคิดเห็น หรือได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ แก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะมีหลายคนออกการฟาดงวงฟาดงาเมื่อถูก “บอนไซ” แล้ว ยังนำไปสู่ความระหองระแหงหลายระลอก

กำหนดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 6 ส.ค.นี้ จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยกเครื่องครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

เบื้องต้นจากเสียงสะท้อนในพรรคเห็นสอดคล้องกันว่า “อภิสิทธิ์” ยังเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะถือธงนำต่อกรกับเพื่อไทยในเวลานี้ การใช้เสียงจากที่ประชุมดึง “อภิสิทธิ์” หวนคืนเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกครั้งจึงไม่น่ามีอะไรพลิกโผ

ทว่าขั้นตอนการเลือกเลขาธิการพรรค ที่หัวหน้าพรรคจะเป็นคนเสนอชื่อ 3 รายชื่อ เพื่อให้ที่ประชุมได้ลงมตินั้น จะเป็นใครยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบที่ยังไม่เห็นความชัดเจน เมื่อชัดเจนแล้วว่า “สุเทพ” ประกาศไม่รับตำแหน่งอีกรอบ

จับทิศทางผ่านกลุ่มก้อนในพรรคเวลานี้ กลุ่มพื้นที่ กทม. เสียงส่วนใหญ่ยังเป็นฐานของ “อภิสิทธิ์”ที่พร้อมจะสนับสนุน “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ที่เริ่มเปิดตัวแสดงความพร้อมสำหรับเก้าอี้เลขาธิการพรรค โดยมี “สุเทพ” เป็นแบ็กคอยหนุนอยู่เบื้องหลังชัดเจน

กลุ่มภาคใต้เสียงส่วนใหญ่ยังหนุน “สุเทพ” ที่ไม่ว่าจะผลักดันใครขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ งานนี้เสียงอาจแตกถ้ามีการเสนอชื่อ วิทยา แก้วภราดัย หรือชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ฯลฯ ในฐานะโควตาภาคใต้ขึ้นชิงเก้าอี้แม่บ้านพรรค เสียงที่หนุน “สุเทพ” อาจต้องกระจายตัว

กลุ่มภาคกลาง แคนดิเดตอย่าง “เฉลิมชัยศรีอ่อน” ซึ่งมีเสียงหนุนจาก สส.ภาคกลาง พ่วงตะวันออก และใต้ส่วนเล็กๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเช็กเสียงหยั่งกระแส ก่อนดูจังหวะประกาศตัวชิงเก้าอี้แม่บ้านพรรคอย่างเป็นทางการ

เมื่อชัดเจนแล้วว่าตำแหน่งรองหัวหน้าภาคกลางของ “เฉลิมชัย” เดิม เวลานี้ “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร ประกาศตัวขอขึ้นเก้าอี้รองหัวหน้าแทน พร้อมดัน “เฉลิมชัย” ขึ้นเลขาธิการพรรค

ส่วนกลุ่มที่สนับสนุน “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” อดีตหัวหน้าพรรค แม้จะไม่ได้มีเสียงหนุนเป็นกอบเป็นกำ แต่มีผลต่อการชี้นำทางความคิดเห็น อีกทั้งยังเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่อาจจะชี้ขาดว่าใครจะมาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ หากคะแนนยังสูสีระหว่างแคนดิเดต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มก้อนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้มีตำแหน่งอะไรเป็นพิเศษ หรือมีรายชื่ออยู่ในสภาที่ปรึกษา ซึ่งมีเสียงบ่นน้อยใจอยู่ว่าไม่ค่อยมีใครมาปรึกษา ทั้งที่หลายคนก็เป็นถึงอดีตรัฐมนตรี มีประสบการณ์มากมาย

จากนี้การวางตัวกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่นอกจากจะต้องเผชิญงานหนักในฐานะฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทยที่เสียงท่วมท้น อีกภารกิจสำคัญที่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องเดินหน้าคือ การปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่รอคืนสังเวียนรอบต่อไป