posttoday

ตลาดแฟชันปีเสือฮอตแบรนด์เนมดันไทยขึ้นฮับ

12 กุมภาพันธ์ 2553

การเปิดอาฟตาส่งผลให้ ธุรกิจตลาดในไตรมาสแรกของปีนี้มีการแข่งขันสูงขึ้น “อาฟตา” จึงถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ “ประเทศไทย” กลายเป็นอีกหนึ่งดาวดวงใหม่ในตลาดอาเซียน

การเปิดอาฟตาส่งผลให้ ธุรกิจตลาดในไตรมาสแรกของปีนี้มีการแข่งขันสูงขึ้น “อาฟตา” จึงถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ “ประเทศไทย” กลายเป็นอีกหนึ่งดาวดวงใหม่ในตลาดอาเซียน

เปิดตลาดในไตรมาสแรกปีนี้ ธุรกิจตลาดแฟชั่นในบ้านเรานับว่ามีความเคลื่อนไหวมากที่สุด หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เพราะหลังจากต้นปีที่ผ่านมา เมื่อกำแพงภาษีนำเข้าถูกทลายลงเหลือ 0% จากการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคอาเชียน หรือ “อาฟตา” อันถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ “ประเทศไทย” กลายเป็นอีกหนึ่งดาวดวงใหม่ในตลาดอาเซียน
การเปิดอาฟตาส่งผลให้สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหลากหลายทั้งจากฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่เอเชียด้วยกันต่างสนใจที่จะดันให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลาง หรือ “ฮับ” การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งศูนย์กลางการออกแบบสินค้าในเอเชียนสไตล์ เพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ

แนวโน้มดังกล่าวยังเป็นผลกระทบให้เจ้าของสินค้าแบรนด์เนมท้องถิ่น (โลคัลแบรนด์) ในไทยจำต้องเร่งสปีดเพื่อปรับตัวสู้ต่อการรุกรานของแฟชั่นต่างชาติที่ไร้พรมแดนด้วย
นอกจากนี้ กูรูในวงการแฟชั่นยังคาดการณ์ว่า ในปีเสือดุนี้อาจจะได้เห็นแฟชั่นแบรนด์เนมทั้งไทยและเทศล้มหายตายจากไปไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ หากไม่ปรับกลยุทธ์การแข่งขันในสมรภูมิการแข่งขันในตลาดที่สุดแสนจะร้อนแรงเหลือเกิน

ไมเนอร์ฯ ดึง‘แก๊ป’ขยายพอร์ตแฟชั่น

ขณะที่บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น ผู้นำเข้าและทำตลาดแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องสำอางรายใหญ่ ภายใต้การบริหารของ ไมเคิล บิงเกอร์ ซีอีโอคนปัจจุบัน ที่ได้วางหมากธุรกิจแฟชั่นในปี 2553 นี้ ด้วยการขยายพอร์ตแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ภายใต้แบรนด์ใหม่ “แก็ป” (GAP) หลังจากได้รับสิทธิบริหาร (ไลเซนส์) เป็นแบรนด์ล่าสุด

ปัจจุบันไมเนอร์ฯ มีไลเซนส์เฉพาะแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นไม่ต่ำกว่า 5-6 แบรนด์ อาทิ เอสปรี อีดีซี บอสซินี ทูมี และทิมเบอร์แลนด์ เป็นต้น โดยบริษัทมีแผนเปิดร้านต้นแบบขนาดใหญ่ หรือ แฟล็กชิปสโตร์ “แก๊ป” แห่งแรกในไทย บนพื้นที่ 700 ตร.ม. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 ในต้นเดือนมี.ค.นี้อย่างเป็นทางการ สาขาถัดไปที่สยามพารากอน  แนวทางการทำตลาดแบรนด์แก๊ปในไทย จะครอบคลุมไลน์สินค้าเสื้อผ้าทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก-ผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย รวมทั้งกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานด้วย และใช้กลยุทธ์ราคาที่แข่งขันได้ในตลาดแฟชั่นแบรนด์เนมนำเข้า การนำแบรนด์แก๊ปเข้ามาทำตลาดแฟชั่นในประเทศไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจแฟชั่นของไมเนอร์ฯ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจทางการตลาดแฟชั่นไปด้วยพร้อมกัน

ในส่วนของแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ อย่างเอสปรีนั้น ได้ปรับราคาสินค้าลดลงทุกกลุ่ม ในบางรุ่นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมในเครือบริษัทได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางธุรกิจแบรนด์เอสปรีในอีก 5 ปีข้างหน้าที่จะขยายร้าน  เอสปรีรูปแบบบูทีกช็อปขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 6 สาขา มีพื้นที่แต่ละร้านราว 500 ตร.ม.
 จากปัจจุบันร้านเอสปรีมีจุดจำหน่ายราว 75 สาขา แบ่งเป็นร้านเดี่ยวหรือสแตนด์อะโลน 17 สาขา ส่วนในปีนี้มีแผนขยายร้านเอสปรีเพิ่มอีก 1-2 สาขาในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับคอลเลกชันสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหลายรายการ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเข้ามาจับจ่ายมากขึ้น แบ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงสัดส่วน 70% และผู้ชายสัดส่วน 30%

 ‘ครอคโคไดล์’ ปรับ ‘มาร์เก็ตติง สไตล์’

เช่นเดียวกับ บริษัท ฉัตรทวีกิจ คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารไลเซนส์และทำตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นตราครอคโคไดล์ (CROCODILE) ในประเทศไทยมานานกว่า 23 ปี ซึ่งในปีนี้ สมศักดิ์ ฉัตรทวีกิจ ประธานกรรมการบริหาร กล่าวยอมรับว่า จากกระแสผู้บริโภคและเทรนด์การทำตลาดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแนวโน้มการไหลทะลักของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมข้ามชาติหลายรายที่สบโอกาสจากอาฟตา เป็นผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนและไทยมากขึ้น

นั่นอาจทำให้สินค้าแบรนด์เนมบางรายมีการปรับราคาลงส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในปีนี้จากเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้น หลังชะลอตัวต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น นับแต่ปีนี้เป็นต้นไป บริษัทได้ปรับแนวทางการทำตลาดใหม่ โดยจะใช้การออกแบบสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าภายใต้คอลเลกชันใหม่ๆ ผสานกับการทำตลาดเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดขอบสังคมหรือซีเอสอาร์ เพื่อสร้างความยั่งยืนและการจดจำแบรนด์ได้ยั่งยืนในอนาคตด้วย

 ขณะเดียวกันยังพบว่าปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปเกิดการสลับแบรนด์สินค้าได้ง่าย และตัดสินใจซื้อของผ้านอินเทอร์เน็ตมากกว่าออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าตามช่องทางเดิม ต่างกับคนรุ่นเก่าที่มีความจงรักภักดีในตราสินค้าสูง ซึ่งในเวลานี้หากมีการใช้กิจกรรมการตลาดหรืออีเวนต์ แคมเปญที่แรงๆ และโดนใจ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับและจดจำได้มากที่สุด

“จากประสบการณ์ในวงการสิ่งทอและแฟชั่นเสื้อผ้า มองว่าในปีนี้อาจจะได้เห็นเจ้าของแฟชั่นแบรนด์เนมไม่ต่ำกว่า 10 รายทั้งที่เป็นโลคัลแบรนด์เนม และอินเตอร์แบรนด์ล้มหายตายไปจากตลาด หากไม่มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแบรนด์ตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็จะยังมีรายใหม่ๆ เข้ามาด้วย” สมศักดิ์ กล่าว

แบรนด์นอกพาเหรดบุกไทย

หากนับแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ พบว่ามีเจ้าของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมข้ามชาติหลากหลายสไตล์ ให้ความสนใจกับตลาดในประเทศไทยอย่าวต่อเนื่อง อาทิ แฟชั่นบีชแวร์ชื่อดัง “ควิกซิลเวอร์” ที่เดินเกมบุกในปีนี้ด้วยการขยายสาขาเพิ่มอีก 7 แห่ง จากปัจจุบันเปิดให้บริการร้านควิกซิลเวอร์และร็อกซี ราว 35 สาขา

 สุรเชษฐ มุ้งทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คิวเอส รีเทล ไทยแลนด์ ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ ควิกซิลเวอร์ (Quicksilver) และร็อกซี (Roxy) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัท เตรียมจัดกิจกรรมทางการตลาดเชิงรุกมากขึ้น พร้อมโรดโชว์สินค้าผ่านการจัดงานในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งล่าสุดร่วมกับบีทีเอส จัดแคมเปญ “เอาเออร์ เลิฟ เอาเออร์ ควิกซิลเวอร์ แอนด์ ร็อกซี” เป็นต้น จากเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทใช้งบตลาดประมาณเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังใช้งบ 20 ล้านบาทเปิดตัว “ควิกซิลเวอร์ ร็อกซี แฟล็กชิปสโตร์” บนพื้นที่ 400 ตร.ม. ซึ่งเป็นร้านต้นแบบขนาดใหญ่สุด ในศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต และเตรียมเปิดตัวสินค้าแฟชั่นไลน์ใหม่ คือ ควิกซิลเวอร์ วูเมน สำหรับผู้หญิง และนำเข้าสินค้าอีก 3 แบรนด์เนมใหม่ อาทิ แบรนด์ดีซี ชูส์ (DC Shoes) รองเท้าสำหรับเด็กผู้ชายที่ชื่นชอบกีฬาท้าทาย หรือ เอกซ์ตรีม สปอร์ต เข้ามาทำตลาดเพิ่มด้วยในปีนี้

ขณะที่กลุ่มแฟชั่นรองเท้า และแฟชั่นรองเท้ากีฬาแบรนด์เนมดังจากตะวันตก ก็สนใจใช้ทำเลในประเทศไทยเป็นการฐานบัญชาการรบในสมรภูมิแฟชั่นเช่นกัน โดยล่าสุดรองเท้าสวมใส่ลำลอง แบรนด์ฟิตฟล็อป (Flitflop) จากเกาะอังกฤษ ได้มอบสิทธิบริหารสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัท สตาร์แฟชั่น (2551) เป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทย เพื่อเจาะตลาดกลุ่มใหม่ รองเท้าแฟชั่นลำลองเพื่อสุขภาพ

เช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งธุรกิจรองเท้า “ฟิตฟล็อป” อย่าง สก็อต ทอมสัน กรรมการผู้จัดการ FITFLOP ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ประเทศไทย เป็นฮับและศูนย์วิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) รองเท้าลำลองเพื่อสุขภาพแบรนด์ “ฟิตฟล็อป” เพื่อขยายการทำตลาดไปยังกลุ่ม ประเทศอาเซียนด้วย จากปัจจุบันฟิตฟล็อป ทำตลาดใน 48 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงแฟชั่นรองเท้ากีฬาแบรนด์ เค-สวิส (K-Swiss) ที่ล่าสุดบริษัท ซีอาร์ซี สปอร์ต ผู้บริหารร้านซูเปอร์สปอร์ต ร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาเสื้อผ้าและรองเท้า ได้รับสิทธิเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์เค-สวิส รายเดียวในไทย ประเดิมเปิดร้าน K-Swiss ในรูปแบบร้านแบรนด์เดี่ยว (โมโน แบรนด์) สาขาแรกที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

ด้าน สตีเฟน ล็อก ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เค-สวิส อินเตอร์เนชันแนล ในฐานะบริษัทแม่ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าปัจจุบันตลาดเอเชียและอาเซียนมีอัตราการเติบโตดีอยู่ที่10% ซึ่งนับจากนี้บริษัทจะมุ่งการจัดกิจกรรมทางการ  ตลาดเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ในลักษณะการทำตลาดท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เห็นได้จากการเปิดตัวร้านต้นแบบโมโน แบรนด์ สาขาแรกในเมืองไทยเป็นต้น จากเดิมแบรนด์เค-สวิส อยู่ในตลาดมานานกว่า 44 ปี

ขณะที่ฐานการผลิตหลักของเค-สวิสมีอยู่ในจีนและไทย ซึ่งอย่างหลังบริษัทมองเห็นเป็นโอกาสดีที่จะรุกการทำตลาดในเอเชียมากขึ้นด้วย จากต้นทุนการผลิตที่ปรับให้สินค้ามีราคาแข่งขันได้ในตลาด และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในไทยมากขึ้นราว 10% ต่อปี จากปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตในจีน 90% และไทย 10% เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคนี้ในอนาคต

การตื่นตัวของธุรกิจแฟชั่นนับแต่ต้นปีนี้ เชื่อว่าเป็นแรงส่งให้เจ้าของแฟชั่นแบรนด์เนมหลายราย ต้องลุกขึ้นมาแต่งตัวสู้กันอีกหลายแคตวอล์ก เพื่อวัดว่าสุดท้ายแล้วจะมีใครตกขอบเวทีหลุดจากตลาดแฟชั่น ดังที่คาดการณ์ไว้หรือไม่?!?