posttoday

จับตา! อัยการถอนฟ้อง คิกออฟสร้างปรองดอง

05 กรกฎาคม 2561

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกันสำหรับการประกาศใช้ ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกันสำหรับการประกาศใช้ ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ระเบียบดังกล่าวเป็นการออกตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ซึ่งได้มีหลักการที่ว่าด้วยการให้พนักงานอัยการไม่ต้องสั่งฟ้องคดี หรือมีอำนาจถอนฟ้องคดีได้ หากเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 

โดยก่อนหน้านี้ อัยการสูงสุดเคยออกระเบียบที่ว่านั้นมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2554 แต่ระเบียบฉบับใหม่ของปี 2561 มีสาระสำคัญอยู่ที่ข้อ 7 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของการถอนฟ้องที่มีทั้งหมด 6 ข้อ 

(1) สาเหตุหรือมูลเหตุจูงใจในการกระทําความผิด ลักษณะความร้ายแรงของการกระทําความผิดผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทําความผิด

(2) เหตุผลตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศถึงผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการมีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ

(3) เหตุผลตามความเห็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ

(4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ

(5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความสามัคคีของคนในชาติ

ระเบียบฉบับนี้ถือได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองพอสมควร เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความปรองดองที่ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนวทางที่ได้เคยเสนอไว้มีด้วยกัน 2 กรณี

1.ในกรณีที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนฟ้องศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.องค์การอัยการฯ และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฯ เฉพาะในกรณีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

2.ในกรณีที่คดีอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฯ พิจารณาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา เฉพาะในกรณีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

แต่กระนั้นการถอนฟ้องคดีในทุกกรณีตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ จะไม่รวมไปถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะจะจำกัดเฉพาะคดีที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมือง โดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือมีการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเท่านั้น

ดังนั้น เมื่ออัยการขยับแล้วทำให้มีประเด็นที่ต้องจับตาว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำแนวทางการสร้างความปรองดองมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือไม่

ตลอด 10 ปีที่มีการชุมนุมทางการเมืองใหญ่ 3-4 ครั้งที่เป็นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำมาซึ่งการฟ้องคดีที่มีแกนนำผู้ชุมนุมและผู้ชุมนุมเป็นจำเลยจำนวนมาก

อาทิ คดีการยึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ คดีการล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2552 คดีข้อหาก่อการร้ายของกลุ่ม นปช. รวมทั้งคดีความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่น กระทำให้ปรากฏแก่วาจาฯ อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันเกิน 10 คน ประทุษร้าย ขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.

ทั้งนี้ จะพบว่าแต่ละคดีล้วนมีโทษทางอาญาที่สาหัสแทบทั้งสิ้น แม้ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาโดยแท้ที่ไม่น่าจะรับการยกเว้น แต่ก็สามารถอาศัยช่องที่ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพื่อมาเชื่อมโยงให้สามารถได้รับการถอนฟ้องตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ โดยอาศัยระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดฯ

ความเป็นไปได้ของการถอนฟ้องเพื่อสร้างความปรองดองนั้นก็ยังพอมีอยู่ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ การให้ทุกฝ่ายกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ อาจเป็นแนวทางการสร้างความปรองดองในอนาคต

แต่จะเริ่มเขี่ยลูกเมื่อไหร่นั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา