posttoday

"อภิสิทธิ์"ยื่นศาลตีความคำสั่งคสช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

23 มกราคม 2561

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ขอให้วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ขอให้วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  โดยคำร้องอ้างว่าคำสั่ง คสช. ดังกล่าวส่งผลเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 2.5 ล้านคน  เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติภายใต้เงื่อนเวลาที่กำหนด  และความยุ่งยากทางธุรการ การจัดทำเอกสาร  และเสียค่าใช้จ่ายราว 20 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว  ย้ำการยื่นไม่มุ่งสร้างปัญหาทางการเมือง  แต่เป็นการใช้สิทธิ์เพื่อไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม  และป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจขัดหลักนิติธรรม

นายอภิสิทธิ์ได้ยื่นคำร้องต่อนายรักเกชา  แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ  โดยเป็นคำร้องความยาว  17 หน้า

คำร้องดังกล่าวมีสาระสำคัญคือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขัดเจตนารมณ์และกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ  ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมต่อประชาชนโดยไม่สมควรแก่เหตุ  เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้นายอภิสิทธ์ได้ยกเหตุผลประกอบคำร้องว่า  คำสั่งดังกล่าวซึ่งออกตามอำนาจของมาตรา 44 ขงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  โดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า  การใช้อำนาจดังกล่าว  ต้องทำเพื่อการปฏิรูปประเทศ  เพื่อการส่งเสริมความสามัคคี ความสมานฉันท์  และป้องกันการบ่นทำลายความสงบเรียบร้อยของชาติ  นอกจากนี้ผลการออกคำสั่งดังกล่าว  มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย  ซึ่งขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายอภิสิทธิ์ย้ำด้วยว่า  ผลจากคำสั่งดังกล่าว  ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองเก่า  กับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่  กล่าวคือพรรคการเมืองเก่า  โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกมากกว่า 2.5 ล้านคนอย่างพรรคประชาธิปัตย์  จะต้องประสพปัญหาด้านการปฏิบัติ  เนื่องจากเงื่อนเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้  เช่นให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้เดียวที่พิจารณาการยืนยันคุณสมบัติของสมาชิกพรรค  การให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันการไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีอยู่ 19 ประการ  ที่ต้องไปขอคำรับรองจาก 19 หน่วยงาน  อาทิ  การไม่เป็นผู้ล้มละลาย  การไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุก ฯลฯ  และยังกำหนดว่าการส่งเป็นเอกสารไม่สามารถส่งทางอิเลคโทรนิกได้  หากทำไม่ได้ภายใน 30 วันก็ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค  จึงเป็นการสร้างความลำบากและลิดรอนสิทธิของประชาชน

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังได้อ้างถึงเอกสารแนบ  ซึ่งเป็นข่าวการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์  จันโอชา เป็นนายกฯ ว่าอาจตีเจตนาได้ว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการเอื้อกุล่มการเมืองที่จะตั้งพรรคใหม่  เพราะสิ่งที่ คสช. อ้างในคำสั่ง  ทั้งกรณีปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อน  เพื่อให้ได้สมาชิกที่มีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน  และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ทบทวนอุดมการณ์ของพรรค  ล้วนไม่เป็นความจริง  เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้จัดระบบรายชื่อสมาชิกพรรคไม่ซ้ำซ้อนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้ว  ผู้เป็นสมาชิกพรรคพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการลงนาม กรอกใบสมัครด้วยตนเองเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันแต่แรก  ส่วนที่อ้างว่าทบทวนอุดมการณ์ก็ไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะโดยคำสั่งของ คสช. พรรคการเมืองไม่สามารถประชุมพรรค  จึงไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์หรือนโยบายพรรคแต่อย่างใด

"การดำเนินการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้  ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างปัญหาทางการเมืองแก่ผู้ออกคำสั่งแต่อย่างใด  แต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้  ทั้งยังป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจขัดกับหลักนิติธรรมอีกต่อไป"เนื้อหาในคำร้องระบุ