posttoday

ฎีกายืนจำคุก35ปี4เดือน "อดีตการ์ดนปช." ยิงM79ถล่มกปปส.

16 มกราคม 2561

คำพิพากษาฎีกายืนจำคุก 35 ปี 4 เดือน "อดีตการ์ด นปช." ยิงเอ็ม79 ใส่ กปปส.ปี 57 ส่วนอีกคน ยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่ชัด

คำพิพากษาฎีกายืนจำคุก 35 ปี 4 เดือน "อดีตการ์ด นปช." ยิงเอ็ม79 ใส่ กปปส.ปี 57  ส่วนอีกคน ยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่ชัด

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีการ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยิงเอ็ม79 ใส่กลุ่มกปปส. เมื่อปี 2557 โดยพนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายณรงค์ศักดิ์ หรือตุ้ย พลายอร่าม อายุ 32 ปี อดีตการ์ดนปช. และนายพีรพงษ์ หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ อายุ 43 ปี  เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

โดยคดีนี้จำเลย ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จ.สระบุรี  ในคดีอื่น ซึ่งศาลจังหวัดสระบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ให้จำเลยฟังไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา

วันนี้ศาลอาญา ได้อ่านผลคำพิพากษาศาลฎีกา ให้อัยการโจทก์ ทราบเท่านั้น จึงไม่มีการเบิกตัวจำเลยมาศาลอาญา

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.57 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมีอาวุธปืนชนิดเครื่องยิงระเบิดสังหาร ขนาด 40 มม. 1 ลูก ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและจำเลยทั้งสองกับพวก ก็ได้ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนดังกล่าวติดตัวไปตาม ถ.ลาดพร้าว ถ.รัชดาภิเษก ถ.พหลโยธิน และ ถ.วิภาวดีรังสิต อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร

หลังจากนั้นพวกจำเลย ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณหน้าอาคารชินวัตร 3 แขวง-เขตจตุจักร กทม. อันเป็นการยิงปืน ซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน และที่ชุมชน โดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน โดยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าลูกระเบิดยิงชนิดระเบิดสังหารที่มีอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงสามารถทำอันตรายแก่ชีวิตบุคคลที่สัญจรผ่านบริเวณ ถ.วิภาวดีรังสิต และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ชุมนุมอยู่บริเวณอาคารที่เกิดเหตุ ให้ถึงแก่ความตายและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้ แต่เนื่องจากลูกกระสุนระเบิดตกห่างจากจุดที่ นายประกิต กันยามา ผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ประมาณ 40 เมตร แล้วระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดจึงไม่ถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ถึงแก่ความตาย แต่มีสะเก็ดระเบิดกระเด็นถูกเสาอาคารโดมและต้นไม้ประดับของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 20,000 บาท

หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุเก็บเศษสะเก็ดระเบิดได้ 1 ถุงเป็นของกลาง

จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมได้ในวันที่ 16 ก.ค.57 ส่วนจำเลยที่ 2 จับได้ในวันที่ 22 ก.ย.57

ขณะที่คดีนี้ ศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ย.58 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 43 ปี 4 เดือน พร้อมริบของกลาง

ต่อมาจำเลยยื่น และได้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค.59 พิพากษาแก้ให้ลดโทษจำคุก นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เหลือ 35 ปี 4 เดือน และยกฟ้อง นายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 แต่ศาลยังให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

จากนั้นอัยการโจทก์ และ นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา

ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้นั้น โจทก์มีนายยงยุทธ หรือชินจัง บุญดี เป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุพยานโทรหาจำเลยที่ 1 ให้มารับเพื่อไปยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุม กปปส. โดยพยานเป็นคนยิง

ศาลฎีกา เห็นว่า คำเบิกความของ นายยงยุทธ สอดคล้องกับที่ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วัน คำให้การมีรายละเอียดการก่อเหตุรุนแรงของนายยงยุทธถึง 10 ครั้ง ยากที่จะคิดปรุงแต่ง ในชั้นสอบสวนนายยงยุทธยังให้การทั้งในฐานะผู้ต้องหาและพยานยืนยันการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวเช่นเดิม และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ

แม้คำเบิกความของ นายยงยุทธ เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่นายยงยุทธมิได้เบิกความให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การในฐานะพยานและผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างเป็นพยานบอกเล่า นายยงยุทธก็ไม่ได้ให้การว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย

ซึ่ง โจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ให้มีน้ำหนักรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดคดีนี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ นายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกา จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน และยกฟ้อง นายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2