posttoday

"มีชัย"ชี้กม.พรรคการเมืองเวอร์ชั่นสนช.มีปัญหาในทางปฏิบัติ

19 มิถุนายน 2560

"มีชัย"เผยกฎหมายพรรคการเมืองเวอร์ชั่นสนช.ก่อปัญหาในทางปฏิบัติ หวั่นเข้มไพรมารี่โหวตกระทบพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลง ส.ส.ไม่ทัน

"มีชัย"เผยกฎหมายพรรคการเมืองเวอร์ชั่นสนช.ก่อปัญหาในทางปฏิบัติ หวั่นเข้มไพรมารี่โหวตกระทบพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลง ส.ส.ไม่ทัน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสส.หรือการทำไพรมารี่โหวตว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเดิมปกติเวลากำหนดวันเลือกตั้งแล้วจะมีการกำหนดวันรับสมัครภายใน 7 -10วันหลังจากได้ประกาศวันเลือกตั้ง แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองจะสมัครสส.ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการทำไพมารี่โหวต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้มีปัญหาว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร และพรรคการเมืองจะกลับมาสมัครรับเลือกตั้งทันหรือไม่

"เวลานี้มีคนพยายามอธิบายว่าให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตล่วงหน้าไปก่อนก็ได้ แต่ขอถามว่าถ้าทำแบบนั้นจะเอาเขตเลือกตั้งอะไรมากำหนดการทำไพรมารี่โหวต เพราะเขตเลือกตั้งจะประกาศช่วงใกล้เลือกตั้ง แบบนี้สมาชิกพรรคการเมืองพร้อมจะไปลงคะแนนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำไพมารี่โหวตอีก เช่น ถ้าตรวจพบว่าการทำไพรมารี่โหวตไม่โปร่งใส จะมีผลอย่างไรต่อผู้สมัครอย่างไร เป็นต้น ประเด็นพวกนี้ต้องคุยกันให้ชัด เราไม่ได้ขัดข้อง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเราก็จะได้เข้าไปช่วยแก้ไข" นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ประเด็นนี้เหล่านี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ต้องไปดูด้วยว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ได้เลยหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ ดังนั้น หากในทางปฏิบัติไปทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ได้ ก็อาจเป็นปัญหาได้

เมื่อถามว่า ถ้าในอนาคตมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน3 ฝ่ายระหว่างกรธ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วแต่ต่อมาสนช.ยังคงยืนยันให้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเป็นไปตามที่สนช.แก้ไข จะมีขั้นตอนอะไรที่สามารถกลั่นกรองได้อีกหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าเขาผ่านแบบนั้นไป เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เมื่อสนช.ตัดสินว่าอย่างไร กรธ.ก็ไม่ได้แย้งไปในหลักการของสนช. เพียงแต่กรธ.จะดูว่าจะช่วยทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์เท่านั้น

เมื่อถามว่า การเป็นปัญหาในทางปฏิบัติแต่ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายได้ใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงต้องไปดูก่อนว่าในทางปฏิบัตินั้นจะไปทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรก่อน