posttoday

สปท. มีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบรายงานใช้สื่อสร้างสรรค์

02 พฤษภาคม 2560

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบรายงานใช้สื่อสร้างสรรค์ ย้ำต้องปฏิรูปหลังจากทำร้ายจิตใจประชาชน

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบรายงานใช้สื่อสร้างสรรค์ ย้ำต้องปฏิรูปหลังจากทำร้ายจิตใจประชาชน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสียงข้างมาก 154 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสียงข้างมาก 154 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน โดยจะส่งรายงานฉบับดังกล่าวให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกมธ.ฯ ชี้แจงว่า จากการศึกษาพบข้อมูลว่า สื่อหลัก ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ สร้างผลกระทบต่อจิตใจประชาชน ถ้าไม่กำกับดูแล อาจเกิดการล่วงละเมิดสิทธิถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน หากยังปล่อยไว้ จะกระทบต่อความมั่นคงชาติ ต้องปฏิรูปปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก โดยความร่วมมือจากภาครัฐภาค ประชาชน อบรมต่อเนื่องให้ตระหนักรู้ภัยการเสพสื่อ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์  ไม่ใช่การให้ภาครัฐเข้าไปกำกับอย่างเดียว แต่มีหลักการให้สื่อควบคุมกันเองเอาไว้ด้วย

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายท้วงติงรายงานของกมธ.ว่ายังมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข อาทิ การจะให้นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกมธ.ขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยนายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. ระบุว่า นายกฯ ไม่ใช่หนุมาน ที่จะทำหน้าที่ทุกคณะกรรมการ

เช่นเดียวกับ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท.อภิปรายว่า  ขอให้ทบทวน แก้ไข การออกใบรับรองหรือใบอนุญาตสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. กมธ.ถอยแล้ว 3 ก้าว วันนี้กลับเดินหน้าอีก 5 ก้าว การออกใบรับรอง ที่สื่อต้องผ่านการอบรม และเจ้าของกิจการต้องผ่านการอบรมด้วยอย่างนี้ก็ต้องเดือดร้อนไปถึง นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด สมาชิกสปท.ที่ต้องไปอบรมด้วยจะดีหรือไม่

“การที่จะควบคุมสื่อแบบนี้ ขอยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องตรวจสอบความโปร่งใสการทำงาน ต้องเสดงที่มาที่ไปบัญชีทรัพย์สิน เพราะใช้ภาษีประชาชน แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเปิดเผยความความคิด ทำไมสื่อจะต้องถูกบังคับให้เปิดเผยความคิด ตามที่ร่างพ.ร.บ.สื่อฯกำหนดผ่านไปเมื่อวาน ทั้งๆ ที่สื่อส่วนใหญ่เป็นเอกชนใช้เงินทุนตัวเอง เขาก็มีสิทธิเสรีภาพ จะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผยก็ได้ ดังนั้นต้องระมัดระวัง หากถูกนำไปตัดตอนวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน อาจถูกตั้งคำถามว่า เรากำลังจะไปเขียนอะไรที่ควบคุมขนาดนั้นเชียวหรือ”นายคำนูณ กล่าว