posttoday

"เรืองไกร"ร้องสรรพากรสอบการเสียภาษีของบิ๊กป้อม

20 มีนาคม 2560

"เรืองไกร"ยื่นหนังสือต่อกรมสรรพากรร้องสอบการเสียภาษีของ "พล.อ.ประวิตร" กรณีเช็ค 1 ล้านบาท

"เรืองไกร"ยื่นหนังสือต่อกรมสรรพากรร้องสอบการเสียภาษีของ "พล.อ.ประวิตร" กรณีเช็ค 1 ล้านบาท

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยภายหลังการเดินทางมายื่นหนังสือที่กรมสรรพากรเพื่อขอให้มีการตรวจสอบการเสียภาษีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ว่า จากกรณีที่ได้ยื่นรายการบัญชีทรัพย์สินอื่นเป็นเช็คจำนวน 1 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงที่รับตำแหน่งเป็น รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551

ทั้งนี้ ต้องการให้มีการตรวจสอบด้วยว่า เช็คดังกล่าว ซึ่งลงวันที่ 18 ธ.ค. 2551 มีการขึ้นเงินหรือไม่ โดยหากมีการขึ้นเงินแล้ว เงินดังกล่าวตามเช็คอาจถือเป็นเงินได้ถึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ควรนำไปยื่นเสียภาษีกับเงินได้ตามมาตรา 40 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2552

อย่างไรก็ตาม หากตามข้อเท็จจริงยังไม่มีการยื่นเสียภาษี กรมสรรพากรได้มีการออกหมายเรียกเพื่อให้มีการเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่มีการออกหมายเรียก ภายในกำหนด 5 ปี ควรมีการใช้ประมวลรัษฎากรมาตรา 18 ในการดำเนินการต่อไป เนื่องจากอายุความในหนี้ภาษีอากรมีอยู่ 10 ปี ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นจึงควรดำเนินการเรียกเก็บภาษีพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (หากมี) ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ การมายื่นเรื่องให้กรมสรรพากรมีการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเอาคืน เพียงแต่หากรัฐบาลต้องการใช้อภินิหารทางกฎหมายในการตรวจสอบเสียภาษีการซื้อขายหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องมีการตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมืองคนอื่นด้วย รวมถึงกรณี พล.อ. ประวิตร ที่มีหลักฐานเป็นเช็คค่อนข้างชัดเจน แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่าพล.อ.ประวิตร จะมีความผิด เพียงแต่ต้องการให้กรมสรรพากรมีการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงออกมา

“กรณีนี้ใกล้เคียงกับกรณีการเก็บภาษีหุ้นชินกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วควรจบ แต่เพราะมีการใช้ข้อกฎหมายขึ้นมาตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วควรว่ากันตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายมากกว่า ดังนั้นกรณีของ พล.อ.ประวิตรก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเงินได้ก็ต้องโดนด้วย จะใช้อภินิหารกฎหมายอะไรคงไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บอกว่าจะใช้เฉพาะคนใดคนหนึ่งเท่านั้น” นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เชื่อว่า พล.อ. ประวิตร จะชี้แจงเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ ส่วนความผิดจะมูลค่า 1 ล้านบาท, 1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 600 ล้านบาท ถ้าจะใช้ข้อกฎหมายพิสูจน์ในการเก็บภาษีต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และ ป.ป.ช. ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการตรวจสอบในส่วนนี้ทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ากรณีการเรียกเก็บภาษีหุ้นชิน จากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และกรณีเช็คมูลค่า 1 ล้านบาท ของ พล.อ.ประวิตร มีความใกล้เคียงกัน แต่กรณีของ พล.อ.ประวิตรนั้น มีหลักฐานชัดเจนเป็นเช็ค ที่น่าจะอธิบายรายละเอียดได้ ส่วนกรณีการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินนั้น ที่ผ่านมาผมมีส่วนร่วมในเหตุการณ์มากที่สุดคนหนึ่ง แต่รัฐบาลได้ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าวถูกบิดเบือนไป เห็นได้ชัดจากการใช้อภินิหารของกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี ซึ่งทำให้มีหลายคนเดือดร้อน โดยเฉพาะกรมสรรพากร

“ไม่มีอะไรใช้เสกสรรปั้นแต่ง ไม่มีการใช้อภินิหารใด ๆ ทั้งสิ้น ที่มาในวันนี้ต้องการให้กรมสรรพากรตรวจสอบจากหลักฐานที่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่หากตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าเช็คดังกล่าวไม่ได้ขึ้นเงินและไม่ควรถือเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ก็ให้แจ้งข้อมูลกลับไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบยืนยันอีกทางหนึ่งว่าเหตุใดจึงแจ้งรายการดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน มีการค้ำประกันระหว่างกันอย่างไร หรือไม่ และเหตุใดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งต่อ ๆ มาจึงไม่มีรายการทรัพย์สินอื่นเกี่ยวกับเช็คฉบับนี้มาแสดงอีกเลย” นายเรืองไกร กล่าว