เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ,นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ. รวมหารือพูดคุยกับสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ครั้งแรก
พล.อ.เจริญ เปิดเผยว่า ในวาระการปฏิรูปของกระทรวง ขณะนี้มีแนวคิดศึกษาที่จะเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงาน เป็นชื่ออื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะต้องทำให้คนงานไทยเป็นแรงานที่ต้องใช้ทักษะสมองมากขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาภายในกระทรวงแรงงาน มีกระแสพูดถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงานแล้ว อาทิ ชื่อกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ หรือกระทรวงคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น
ขณะที่แนวทางการดูแลแรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวของสำนักงานประกันสังคม ขณะนี้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดูแลแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 9 กระทรวง อาทิ กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์โดยจะเน้นดูแล 3 เรื่องหลักคือ การส่งเสริม การคุ้มครอง และการพัฒนา ซึ่งจะต้องส่งเสริมการสร้างรายได้และตลาดการจำหน่ายสินค้า ส่วนผลการทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์การดูแลแรงงานนอกระบบ ยังพบว่าที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ฉะนั้นจะมีการปรับแก้ไข เช่น เรื่องการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ที่เข้มแข็งที่ต้องเน้นการสร้างผู้นำในระดับพื้นที่ เพื่อให้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนงาน ซึ่งมองว่าอาจนำอาสาสมัครแรงงานมาพัฒนาให้เป็นผู้นำในระดับชุมชน ปริมาณแรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
ขณะที่ความคืบหน้าการศึกษาเพื่อที่จะนำกลุ่มงานคนรับใช้ในบ้าน เข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 นั้น ฝ่ายผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า จากที่ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำการศึกษาวิจัย พบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลยังไม่ได้รับความร่วมมือจากกนายจ้าง และนายจ้างไม่พร้อมแปรสภาพบ้านให้เป็นสถานประกอบการ ดังนั้น สปส.จึงมีทางเลือกให้เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 และควรมีการกำหนดกรอบให้ลูกจ้างในการคุ้มครองในอนาคตโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตนเพียง 2.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนกว่า 21 ล้านคน อีกทั้ง สปส.อยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายประกันสังคม และคาดว่าในปีนี้ สปส.จะพิจารณาออกรูปแบบสิทธิประโยชน์แล้วเสร็จและนำเสนอตามขั้นตอนต่อไปได้
ด้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ย้ำว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยในกฎหมายได้เพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้น คือ กฎหมายเดิมระบุว่า หากพบมีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีโทษปรับ 2 แสนบาทบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ได้เพิ่มเป็นปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ขณะเดียวกันหากเด็กได้รับอันตราย ก็มีโทษปรับสูงขึ้น 8 แสน – 1.2 ล้านบาท ดังนั้น ขอเตือนนายจ้างอย่ามีการจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน หากตรวจพบจะเอาผิดอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ทาง รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ กสร.พิจารณาเรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 60 นี้ คาดว่า กสร. จะสามารถมีการพิจาณราออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบนำมาบังคับใช้ได้ ควบคู่กับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งการออกกฎหมายจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแรงงานในกลุ่มนี้มีการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะ กลุ่มงานภาคการเกษตร และกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม