posttoday

"มีชัย" สรุปภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ 261 มาตราหวังสกัดทุจริตทุกรูปแบบ

17 มกราคม 2559

"มีชัย" แจงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ 261 มาตรา หวังสกัดการทุจริตทุกรูปแบบ ยอมรับต้องบัญญัติรับรองคสช. แต่ไม่อุ้มคนในที่ทุจริต

"มีชัย" แจงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ 261 มาตรา หวังสกัดการทุจริตทุกรูปแบบ ยอมรับต้องบัญญัติรับรองคสช. แต่ไม่อุ้มคนในที่ทุจริต

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงสรุปภาพรวมของการประชุมคณะกรธ.นอกสถานที่่เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจำนวน 261 มาตรา ไม่นับรวมบทเฉพาะกาล พร้อมกับตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

สิ่งสำคัญที่บัญญัติไว้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนแรกเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนที่เราพยายามที่จะทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิที่กินได้ เกิดผลอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างจริงจัง หลักใหญ่ที่เราดำเนินการคือเปลี่ยนแนวคิดที่เคยกังวลว่าสิ่งใดไม่เขียนทำให้สิทธินั้นบกพร่อง เราก็เปลี่ยนเป็นว่าสิ่งใดไม่เขียนห้ามไว้ไม่ว่าจะเขียนห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายก็ให้ทุกคนมีสิทธิทำได้ตามธรรมชาติของมนุษย์เพื่อป้องกันการออกกฎหมายภายหลังกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานหรือเกินจำเป็น เราก็เขียนห้ามไว้ว่ากรณีออกกฎหมายจำกัดสิทธิต้องคำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์ของรัฐเป็นส่วนรวม ต้องไม่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเป็นการวางหลักที่มีความชัดเจน นอกจากเราจะกำหนดว่าการใช้สิทธิของบุคคลต้องนึกถึงหน้าที่และผลกระทบที่เกิดจากคนอื่น ผลกระทบที่จะเกิดต่อศีลธรรมอันดี ความมั่นคงของชาติ เพื่อไม่ให้ใช้แต่สิทธิโดยไม่นึกถึงหน้าที่ เพราะถ้าไม่นึกถึงหน้าที่ สังคมก็จะเกิดกลียุคได้

ส่วนเรื่องของศาสนาพุทธมีการเรียกร้องกันว่าให้กำหนดศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราจึงถามกลับว่าเหตุใดจึงต้องการให้เขียนศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดคุ้มครองป้องกันศาสนาพุทธให้พ้นจากการถูกบ่อนทำลาย เพราะฉะนั้นแทนที่จะเขียนไว้เฉยๆไม่ได้ประโยชน์ใด เราจึงเขียนบทบัญญัติบังคับรัฐว่าในฐานะที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ประชาชนเคารพนับถือมาช้านาน รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองจากบ่อนทำลายในทุกรูปแบบทั้งจากภายในและภายนอกและเพื่อเป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ศาสนา เราได้กำหนดให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองศาสนาพุทธด้วย

ส่วนกระบวนการเลือกตั้ง ที่ผ่านมา การเลือกตั้งจะเป็นไปในลักษณะที่ผู้ชนะเอาไปหมด เกิดผลในทางที่ไม่ดีตามมา อาทิ คะแนนของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถูกทอดทิ้ง ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด กินแหนงแคลงใจ  เราพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ ทนไม่ได้ที่จะทำให้เกิดทะเลาะเบาะแว้ง เราจึงกำหนดว่าสิทธิการเลือกตั้ง ขอให้มีความหมายหมดทุกคะแนน เมื่อใช้วิธีนี้จะช่วยให้ไม่มีลักษณะผู้ชนะเอาคะแนนไปหมด เป็นการเฉลี่ยความสุขและสิทธิกัน เพื่อให้เสียงข้างน้อยได้รับการเคารพนับถือดูแลอย่างที่ทุกคนเรียกร้อง

ประเด็นนี้เราได้เอาไปใช้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดแม้เสียงข้างมากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่จะต้องมีเสียงข้างน้อยอยู่บ้างบางส่วนที่เห็นดีเห็นงามมีส่วนร่วม  ส่วนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมประชาชน กรธ.ได้เขียนรับรองคุ้มครองเอาไว้เช่นกัน แต่การมีส่วนร่วมเมื่อเขียนแต่เพียงประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมก็ไม่ค่อยเกิดผลใดเท่าใด เพราะฉะนั้นบางเรื่องที่สำคัญเราได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ คือ ต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนท้องถิ่นด้วยและจัดสรรให้เกิดความทั่วถึงด้วย

ส่วนปัญหาเรื้อรั้งที่สุดของประเทศ ทะเลาะเบาะแว้งคือการทุจริตการบริหารงาน  รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเข้มข้นต่อการทุจริตเป็นอย่างมาก มีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้มาก สกัดคนทุจริตในเรื่องต่างๆที่สำคัญไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการทุจริตต่อหน้าที่ การทุจริตต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เราจะขจัดให้ออกไปจากการเมือง  การร่วมมือทุจริตทุกองคาพยพ เข่น การที่รัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้จัดสรรงบประมาณให้ ส.ส.ใช้  ซึ่งมีการร่วมมือกันทั้งสภา วุฒิสภา (ส.ส.) กระทรวง และคณะรัฐมนตรี  กรธ.กำหนดมาตรการว่าถ้าต่อไปนี้ใครทำเช่นนั้นจะพ้นจากหน้าที่ ถ้าสภาฯอนุมัติงบประมาณก็จะพ้นทั้งสภา ถ้าครม.อนุมัติโครงการแบบนั้นจะทำให้คณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะ มีคนกล่าวหาทำให้รัฐบาลบริหารงานลำบาก ตนคิดว่าถ้าทำงานลำบากเพราะไม่ยอมให้ทุจริตก็ต้องยอมให้รัฐบาลลำบาก  และเพื่อให้กลไกการขจัดทุจริตเกิดผลแท้จริง จึงได้กำหนดให้องค์กรอิสระมีมาตรฐานสูงขึ้น กำหนดกลไกวิธีการคล่องตัวขึ้น ถ้าความปรากฏจะมีใครฟ้องหรือไม่มีใครฟ้ององค์กรเหล่านั้นต้องเข้ามาตรวจสอบได้เพื่อป้องกันการล่าช้าหรือไม่ทันการ

สำหรับการได้มาซึ่งส.ว.แบบการเลือกตั้งทางอ้อม แนวความคิดเดิมเราไม่ต้องการให้วุฒิสภาอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง จะใช้วิธีการเลือกตั้งมันหลักเลี่ยงการอยู่ใต้อาณัติการเมืองยาก หากจะใช้วิธีสรรหาก็ไม่แน่ใจจะว่าการสรรหาป้องกันอย่างไร กรธ.จึงสร้างกลไกให้ส.ว.มีที่มาจากประชาชนแท้จริงโดยให้ประชาชนเลือกกันเอง โดยไม่ต้องหาเสียง วิธีการแบบนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแท้จริงและปลอดจากการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆด้วย

ข้อสงสัยว่าเรากำหนดให้องค์กรอิสระควบคุมการทำงานของรัฐบาลนั้น ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง แต่ปัญหาคือรัฐบาลที่ผ่านมาประชาชนเห็นว่ามีโครงการทำลายเศรษฐกิจ รวมทั้งทำลายวินัยการเงินการคลังประเทศ ดังนั้น เราจึงเปิดช่องกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศรุนแรง หรือขัดต่อวินัยการเงิน การคลังร้ายแรง เราจึงกำหนดให้สตง.ร่วมปรึกษาหารือองค์กรอิสระกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

หาก 3 องค์กรมองเห็นสอดคล้องต้องกันว่าโครงการเหล่านั้นเป็นอันตราย เรากำหนดให้ 3 องค์กรจัดทำรายงานให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภารับทราบถึงอันตรายต่อการดำเนินการ ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าหรือไม่ฟังก็ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ 3 องค์กร ไม่มีอำนาจควบคุมเพียงแต่บอกให้รู้ว่ารัฐบาลมีความรับผิดชอบ ถ้าทำแล้วเกิดผลตามที่3องค์กรบอกจะปฏิเสธภายหลังไม่ได้ว่าไม่รู้

ส่วนเรื่องการปรองดอง นอกจากเรากำหนดกลไกสิทธิเสรีภาพเพื่อนำไปสู่ทิศทางการปรองดอง เช่นเดียวกับกลไกของรัฐสภาก็จะมีบางส่วนนำไปสู่การปรองดอง เช่น ผู้นำฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ  โดยรัฐบาลจะเนินการหรือไม่ดำเนินการก็ได้ แต่เป็นช่องทางเพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัดใจจนต้องไปพูดข้างนอก ขณะที่การปฏิรูปประเทศทางกรธ.อยู่ระหว่างรอผลจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อจะดูว่าจำเป็นต้องเขียนอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการปฏิรูป และรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประเทศต้องมีการทำยุทธศาสตร์ และการทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

อยากให้บอกถึงความชัดเจนเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลที่จะต้องทำไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ?

ยังไม่ได้ทำเลย เดิมตั้งใจจะทำให้เสร็จที่นี้ ปรากฏว่ามีเรื่องที่เราคุยกันมากและเป็นครั้งแรกที่กรธ.ได้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่เหมือนกัน จากเดิมที่ไม่ได้เห็นแบบเต็มๆ เลยมีเรื่องถกเถียงกันเยอะ เราเลยตกลงกันว่าให้ทุกคนเอาร่างรัฐธรรมนูญกลับไปอ่าน เพื่อมาบอกว่าต้องเขียนอะไรรองรับไว้ในบทเฉพาะกาลบ้าง เช่น กฎหมายลูก หรือ การลงโทษบางอย่าง

ส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เราพยายามเขียนให้ครอบคลุมถึง คือ การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ที่ผ่านมามันมีปัญหาว่านโยบายประชานิยมทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันไม่มีทางเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ เราก็ไปหวังพึ่งกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งหวังว่าพวกนักการเงิน การคลัง เขียนอะไรออกมาให้ชัดเจน

การนิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายหรือไม่?

มันคงจะต้องมีตามปกติ ในทุกรัฐธรรมนูญก็คงมี

จะวางกรอบของการนิรโทษกรรมดังกล่าวไว้ขนาดไหน?

ไม่ใช่เรื่องของการนิรโทษกรรม แต่เป็นเรื่องของการรับรองว่าสิ่งที่เขากระทำมานั้นมันยังใช้ได้ เพราะในเมื่อยังใช้ได้ในวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องยังใช้ได้ จนกว่าจะมีคนมายกเลิกมัน จึงไม่ใช่เรื่องของการนิรโทษกรรม

มีข้อกังวลว่าการนิรโทษกรรมแบบนี้จะครอบคลุมถึงการกระทำอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายในปัจจุบัน?

การนิรโทษกรรมมันเป็นการทำสิ่งที่ผิดให้มันถูก แต่การรองรับในสิ่งที่เขาทำที่มันถูกให้มันยังใช้ได้ ถือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งคุณใช้คำผิด เพราะไม่ใช่การนิรโทษกรรม โดยการรองรับการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ถ้าใครทำทุจริตก็ยังถือว่าทุจริตอยู่ ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งที่เราจะเอากลับไปคิดดู

ถ้าในอนาคตฝ่ายการเมืองได้เข้ามามีอำนาจจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวได้หรือไม่?

ก็ทำได้ แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์

กรธ.จะทำความเข้าใจกับสังคมอย่างไรเพื่อให้เข้าใจว่ามาตรสุดท้ายของรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคสช.?

มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมไหน คนที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างไรเขาก็ไม่เห็นด้วย แต่คนที่เขาเห็นด้วยเขาก็คงเห็นด้วย ขึ้นอยู่กับการมอง บางทีการไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องของการดิ้นรนต่อสู้แบบบิดเบือนความจริง เช่น มีคนออกมาบอกว่าคณกรธ.ทำผิดที่บัญญัติให้นายกฯมาจากบุคคลภายนอก เราก็อธิบายให้ท่านฟัง ก็เชื่อว่าจะเข้าใจแล้ว แต่คนเหล่านั้นก็ยังไม่เข้าใจ

มั่นใจหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการทำประชามติ?

คำถามนี้ตอบไม่ได้ ถ้าคุณถอดหมวกและมาคุยกันเป็นส่วนตัว จะตอบได้ แต่ถ้าตอบตอนนี้ จะมีใครสักคนไปหนึ่งเอาไปพาดหัวว่า "โว" "โม้" เพราะฉะนั้นคำถามที่คุณถามมา คือ ตอบไม่ได้