posttoday

หนุนตั้งสถาบันวิเคราะห์งบฯรัฐสภาคุมใช้จ่ายเงิน

25 พฤศจิกายน 2558

“สุรชัย”หนุนตั้งสถาบันวิเคราะห์งบประมาณรัฐสภา ชี้เพื่อใช้กลั่นกรองการใช้จ่ายเงิน

“สุรชัย”หนุนตั้งสถาบันวิเคราะห์งบประมาณรัฐสภา ชี้เพื่อใช้กลั่นกรองการใช้จ่ายเงิน

สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การจัดตั้งสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภาในบริบทสังคมและการเมืองไทย” โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดการสัมมนาพร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “ทำไมต้องมีสถาบันวิเคราะห์งบประมาณรัฐสภา” ตอนหนึ่งว่า งบประมาณเป็นเครื่องมีขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาล แต่กลไกที่ตราการจัดทำงบประมาณในประเทศไทย ยังเกิดประเด็นคำถามหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ เรื่องความเป็นธรรมในการจัดสรรงบฯสำหรับหน่วยงานต่างๆ ความเป็นธรรมในการจัดทำงบฯในพื้นที่ต่างๆ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการตรวจสอบงบประมาณ

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า จนกระทั่งเรื่องงบฯกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง หรือถูกนำไปเป็นคะแนนนิยมในการหาเสียง เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา โดยเห็นว่าประเทศไทยต้องมีหน่วยงานดังกล่าวขึ้นเพื่อวิจัยการจัดทำงบฯหรือไม่ โจทย์นี้ถูกตั้งขึ้นโดยทีดีอาร์ไอ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าวิจัยมาแล้วระยะหนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก
          
“เรามีเครื่องมือกลั่นกรองการใช้งบฯ คือ สภาฯ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง คือ รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ และเสียงข้างมากย่อมตอบสนองนโยบายรัฐบาลอยู่ดี ทำให้เกิดคำถามในการตรวจสอบว่า ทำได้แท้จริงหรือไม่ ในส่วนของวุฒิสภาก็ไม่สามารถตัดเพิ่ม หรือแก้งบฯไม่ได้ มีหน้าที่แค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จึงเกิดคำถามอีกว่า แม้มีสภาที่สองแต่จะสามารถเป็นเครื่องมือหรือหลักประกันได้หรือไม่ว่า งบประมาณนี้จะถูกใช้จ่ายเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นสภาการเมือง จะต้องตั้งคำถามว่าการใช้จ่ายที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ให้กับแล้วหรือยัง”นายสุรชัย กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากมีรูปแบบการใช้จ่ายงบฯภายนอกมากขึ้น และนำไปใช้เพื่อตอบสนองประชานิยมมากขึ้น หรือการใช้งบฯผ่านการออกกฎหมายหลายๆฉบับ กระบวนการจัดตั้งองค์กรนี้จะทำหน้าที่ติดตามการใช้จ่ายงบฯว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ในหลายๆประเทศก็เคยเกิดคำถามเช่นนี้และตั้งองค์กรขึ้นมาโดยใช้ชื่อตรงๆ ซึ่งคิดว่าถ้าผลงานชิ้นนี้สำเร็จ จะมีหน่วยงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ และเราจะเรียกหน่วยงานนี้ว่า ไทยพีบีโอ (Thai Parliamentary Budget Office PBO) หรือ สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศที่ไม่ปล่อยให้การตรวจสอบเป็นหน้าที่ประจำระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะจะมีข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานนี้ขึ้นมาในการช่วยกันติดตาตามการใช้งบฯของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการตรวจสอบงบฯโดยตั้งหลักเกณฑ์ว่า งบฯได้ถูกใช้จ่ายอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการทุจริตหรือไม่ แต่ในกรณีที่ตรวจสอบงบฯแล้วพบว่า ถูกต้องและไม่ทุจริต แต่ก็ยังไม่มีการตรวจสอบว่า งบฯถูกใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับประชาชนแล้วหรือยัง

“เรายังไม่มีหน่วยงานที่ตรวจสอบตรงนี้ เพราะนอกเหนือจากการใช้จ่ายงบฯที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว งบประมาณจะต้องสะท้อนออกมาภายใต้ปรัชญาที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด หน่วยงานนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการจัดทำกฎหมาย เพื่อให้เกิดองค์กรที่เป็นกลาง มีความอิสระ มีผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงิน และงบประมาณของประเทศชาติ ซึ่งเราได้เสนอเรื่องนี้เป็นพ.ร.บ. ในยุคที่ยังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าว