สภาอุตสาหกรรมฯยุค 'พยุงศักดิ์' 60 กรรมการ เชื่อม 6 ยุทธศาสตร์
....ชนิกา สุขสมจิตร
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ต้อนรับประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ หลังผ่านศึกการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันรุนแรงมากกว่าที่เคยมีมาก่อน เรียกว่าแข่งขันต่อสู้ทั้งศึกในและศึกนอก จนถึงขั้นฟ้องร้องถึงศาลปกครอง แต่ผลการลงมติของสมาชิก ส.อ.ท. ทั่วประเทศกว่า 6,000 คน ได้ไว้ใจให้
“พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” นั่งตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ แทนนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ที่หมดวาระลงโอกาสนี้โพสต์ทูเดย์ได้เปิดใจประธานคนใหม่ ถึงประเด็นที่ต้องการความชัดเจนมากในอันดับแรกก็คือ จะทำอย่างไรให้ ส.อ.ท.กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเป็นเอกภาพ ปลดล็อกความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้น
พยุงศักดิ์ ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า แม้การเลือกตั้งจะออกมาในมุมของความขัดแย้ง แต่ท้ายสุดแล้วทุกคนก็สามารถพูดคุยกันได้ เพราะอยู่ในวงการธุรกิจด้วยกัน โดยนโยบายการบริหาร ส.อ.ท. ของตนได้จัดทีมการบริหารในเชิงรุก และทำให้การทำงานมีความกระชับมากขึ้น เจาะลึกใกล้ชิดกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารทั้งหมด 60 คน แยกตามรายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะให้สมาชิก ส.อ.ท.รู้จักกันมากขึ้น จากนี้ไปจะลงพื้นที่พบปะกับสมาชิกในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของแต่ละคน เพื่อนำไปสะท้อนปัญหาให้กับภาครัฐ โดยเฉพาะในเวทีของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งมีถึง 60 คน กลับไม่มีรายชื่อของกรรมการคนเก่านั้น ขอชี้แจงว่า ต้องการได้คนที่เหมาะสมและทำงานร่วมกันได้ แต่ยืนยันไม่ได้มีความขัดแย้งกัน
สำหรับพันธกิจหลักในการทำงานระยะ 2 ปี จากนี้ไปจะส่งเสริมภาคการผลิตด้วยการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและการรวมตัวกันในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมนิเวศ
ขณะเดียวกัน จะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1.พัฒนาอุตสาหกรรมไทยในแนวทางการสร้างมูลค่าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน 3.การพัฒนาการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์และซัพพลายเชน 4.มาตรการเชิงรุกในเวทีโลกหลังเปิดเอฟทีเอ 5.การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม และ 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม
เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย 13 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.การใช้ประโยชน์จากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในกรอบต่างๆ เพื่อขยายตลาดใหม่เพื่อการส่งออก 2.ผลักดันแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโค อินดัสตรี ทาวน์) ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่ม
4.การดำเนินการธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์และห่วงโซ่การผลิต 5.สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 6.เน้นความเป็นบรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจ 7.ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พลังงาน และน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมและการเกษตร 8.ให้ความรู้เรื่องกฎหมายและภาษีกับสมาชิก 9.จัดหารายได้เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน 10.พัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
11.ปรับระบบงานของ ส.อ.ท. ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักให้มีความเด่นชัดมากขึ้น 12.สร้างความเชื่อมโยง ความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และ 13.จัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ
สำหรับมุมมองในด้านเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ พยุงศักดิ์ มองว่า จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของ ส.อ.ท. ที่มีการรายงานทุกเดือน และมองทิศทางใน 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องปัจจัยการเมือง แต่ถ้ามองถึงกำลังซื้อในประเทศ ยังไม่กระทบมากนัก ยกเว้นปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าบ้างในระยะยาว
ทั้งนี้ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีดีอยู่ ภาคอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่ง เพราะมีอุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ มีสินค้าเกษตร เพราะไทยยังโชคดีที่มีพืชผลการเกษตรสมบูรณ์ ส่งผลให้สินค้าหมวดอาหารมีการเติบโตที่ดี ทั้งนี้เชื่อว่าในภาพรวมจีดีพีของประเทศยังดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากภาคการส่งออกมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์โตแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดการผลิตรถยนต์ ซึ่งตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีกำลังการผลิตได้ถึง 1.5 ล้านคัน
สำหรับปัญหาโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ผ่านมามีกระบวนการปลดล็อกตามลำดับ ตั้งแต่การจัดทำหลักเกณฑ์รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพ ตลอดจนการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นความคืบหน้าจากการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย
ประกอบกับมีหลายโครงการที่ได้รับการผ่อนผันให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจ และเชื่อว่าจะคลี่คลายได้ภายในปีนี้
ส่วนปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ทุกครั้งที่ไทยมีวิกฤตมักจะแก้ปัญหาได้เสมอ ยกเว้นมีเหตุรุนแรงคงต้องใช้เวลามากหน่อย ซึ่งผลกระทบจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นรัฐบาลก็เร่งออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม บทบาทของ ส.อ.ท.จากนี้ไปคงต้องร่วมกันทำงานให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งจะประสานกับ ส.อ.ท.ในภูมิภาค ร่วมกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมายพันธกิจที่ได้วางไว้