posttoday

คสช.ชนะม็อบ แต่สืบทอดอำนาจยาก

24 พฤษภาคม 2561

คสช.อยู่บนเส้นทางการเมืองมาครบ 4 ปี ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงต่อต้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่บนเส้นทางการเมืองมาครบ 4 ปี ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงต่อต้าน แน่นอนว่าคนที่ตกเป็นเป้ามาตลอดคงหนีไม่พ้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้ทุกวันนี้เพราะมีมาตรา 44 เป็นปัจจัยสำคัญ มิเช่นนั้น ป่านนี้ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะปล่อยให้ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งไปตั้งนานแล้ว อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เกิดขึ้นเป็นระยะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

พัฒนาการของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นเริ่มมาตั้งแต่ คสช.รัฐประหารใหม่ๆ เริ่มต้นจากการแสดงพลังชูสามนิ้ว และการรวมตัวบริเวณหอศิลป กทม.

รังสิมันต์ โรม และ จ่านิว และคณะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ชัดเจน ท้าทายอำนาจจากปากกระบอกปืนมาเป็นระยะ

ทีแรก คสช.พยายามจะมองข้ามและไม่ให้ราคาทางการเมืองเท่าใดนักพร้อมกับพยายามชี้หน้ากลุ่มคนเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มอำนาจเก่า

ยิ่งนานวันจากกลุ่มคนที่ คสช.ไม่ค่อยให้ราคา ต่อมาสามารถจัดเวทีและสร้างกิจกรรมสร้างแนวร่วมได้เป็นระยะ ประกอบกับการทำงานของ คสช.ที่ดูไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าใดนัก ทำให้กระแสยี้ คสช.เพิ่มมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน จากกลุ่มการเมืองที่เรียกร้องแค่เสรีภาพของประชาชนกลายมาเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการให้ คสช.คืนอำนาจให้กับประชาชน

การชูประเด็นเรื่องการให้จัดการเลือกตั้งนั้นนับว่าได้ผลในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะก้าวที่พลาดของ คสช.เองด้วย ภายหลังจากบรรดาองคาพยพของ คสช.สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นช่วงต้นปี 2562 ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งควรเกิดขึ้นในปลายปีนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเลือกตั้งนั้นดูจะมีพลังมากและมีแนวร่วมมากขึ้น ซึ่งมาปรากฏให้เห็นได้ชัดจากการจัดการชุมนุมเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสามารถนำมวลชนเคลื่อนขบวนจากถนนราชดำเนินไปถึงบริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อไม่นานมานี้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างกดดันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ตามวัตถุประสงค์ จึงเป็นที่มาของการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.

การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นพยายามสร้างรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมา เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าความล้มเหลวตลอด 4 ปีของ คสช.มีอะไรบ้าง และต้องการสร้างพลังด้วยการเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำเนียบรัฐบาล

แต่การพยายามของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากถูกตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงสกัดทุกทาง จนต้องยุติการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่สามารถไปถึงเป้าหมายของตัวเอง เพราะแนวร่วมและปริมาณผู้ชุมนุมไม่มากพอ ประกอบกับการเตรียมรับมือของตำรวจที่ต้องยอมรับทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้การชุมนุมที่คิดว่าจะยืดเยื้อกลับต้องสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง

อย่างไรก็ดี การประกาศยุติการชุมนุมและการมอบตัวของแกนนำ ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลที่สามารถใช้กำลังและกฎหมายจัดการตามแผนได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.กลับเป็นการตอกย้ำว่า คสช.แพ้
ในทางการเมืองมากกว่า

ลึกๆ แล้วกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทราบดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปถึงจุดที่ให้ คสช.มาทำตามข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณคน และเงื่อนไขที่นำสู่จุดแตกหัก แต่การชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ต้องการผลิตซ้ำวาทกรรมความล้มเหลวของ คสช.เพื่อสร้างกระแสต่อต้านสำหรับการสกัดไม่ให้ คสช.เข้ามาสืบทอดอำนาจได้ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อองค์กรระหว่างประเทศอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงต่อกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง น่าจะเขย่าสถานะของรัฐบาลได้พอสมควร 

“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยพลัน ทั้งนี้ สำนักงานได้เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบในฐานะที่เป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง” 

เท่ากับว่ารัฐบาลไทยกำลังถูกจับจ้องจากต่างชาติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพอีกครั้ง ทั้งที่สถานการณ์ของไทยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพิ่งกลับมาอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ ยิ่งเป็นการล็อกคอรัฐบาลว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกแล้ว

เห็นแบบนี้ หากจะบอกว่าการยุติการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นชัยชนะของรัฐบาลหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้ามก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว

ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของ คสช.จึงไม่ได้เป็นก้าวที่สวยหรูมากนักและแผนการที่คิดไว้ทั้งการใช้การเลือกตั้งเพื่อกลับมาสืบทอดอำนาจอาจจะไม่ผล ครั้นจะอยู่ในอำนาจก็ลำบาก เรียกได้ว่า คสช.กำลังสัมผัสกับความพ่ายแพ้แบบถาวร