posttoday

ติมเชื้อขัดแย้ง ม็อบยิ่งเสี่ยงบานปลาย

22 พฤษภาคม 2561

ครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของคสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานการณ์การเมืองปัจจุบันยังส่อเค้าวุ่นวายและพร้อมจะบานปลายไปสู่ความรุนแรงได้อย่างต่อเนื่อง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 สถานการณ์การเมืองปัจจุบันยังส่อเค้าวุ่นวายและพร้อมจะบานปลายไปสู่ความรุนแรงได้อย่างต่อเนื่องหากไม่ระมัดระวังและยังมีการเติมเชื้อปลุกปั่นมากขึ้น

หนึ่งในจุดเปราะบางเวลานี้อยู่ที่การชุมนุมของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งต้องการให้รัฐบาล คสช.ออกมาประกาศความชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งและสร้างหลักประกันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามนั้น ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ มาเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปเหมือนที่ผ่านมา 

ด้านหนึ่งการชุมนุมครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หรือจะมีความแตกต่างจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เคยจัดก่อนหน้านี้และมีผู้ร่วมชุมนุมหลักร้อย จนทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการปลุกกระแสของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอาจไม่ได้จุดติดง่ายๆ 

ทว่า ความแตกต่างรอบนี้อยู่ตรงจังหวะเวลาและสถานการณ์ ทั้งในแง่เหตุการณ์ ครบ 4 ปีการรัฐประหาร อันเป็นรอยต่อสำคัญของการลงจากอำนาจและเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง กับข้อกังขาเรื่องยื้ออำนาจที่มีสัญญาณหลายอย่างปรากฏชัด ไม่ว่าจะเรื่องการดูด การลงพื้นที่อัดฉีดเม็ดเงินลงจังหวัดต่างๆ 

เงื่อนไขเรื่องการเลือกตั้งจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความชัดเจน 

ปัญหาอยู่ที่แม้จะมีโรดแมปที่ขยับมาหลายครั้งจนล่าสุดการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562 แต่กระนั้นเสียงสะท้อนที่ออกมาหลายฝ่ายยังไม่อาจปักใจเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงในช่วงเวลาดังกล่าว 

เงื่อนไขสำคัญอยู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีความชัดเจนในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

หากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ กระบวนการพิจารณากฎหมายต้องกลับไปตั้งต้นกันใหม่อีกรอบ ที่สำคัญไม่รู้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน และจะส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่

เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ ถือเป็น 2 ฉบับสุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน เมื่อ​กฎหมายลูกเหล่านี้มีผลบังคับใช้ 

ที่ผ่านมากระแสข่าวเรื่องความพยายามตีตกกฎหมายลูกเหล่านี้ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำให้กระบวนการเลือกตั้งไม่อาจเดินหน้าไปตามแผนได้ แต่สุดท้าย แม้ สนช.จะไม่ได้คว่ำกฎหมายลูกดังกล่าว แต่ก็แก้ไขและทิ้งปมที่อาจเป็นชนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรมนูญจนได้ 

เงื่อนเวลาทั้ง 4 ปีรัฐประหาร และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้สถานการณ์เวลานี้ล่อแหลมและเปราะบาง สอดรับกระแสการสืบทอดอำนาจที่มีเค้าลางปรากฏให้เห็นชัดขึ้น อันอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนในวันข้างหน้าได้

​อีกเงื่อนไขที่หลายคนเป็นห่วงคือเหตุการณ์ที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาระบุถึงการข่าวพบว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองหรือแดงฮาร์ดคอร์ เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธหนักสร้างสถานการณ์ จึงได้มีการสั่งจับตากลุ่มแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ แม้เป็นคนละกลุ่มกันแต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหว

ตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่และฝ่ายความมั่นคงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง อันจะทำให้สถานการณ์บานปลาย รวมทั้งต้องเปิดเผยรายละเอียดความชัดเจนและความคืบหน้าในการสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์เพื่อไม่ให้คิดว่าเรื่องนี้เป็นแผนทางจิตวิทยาสกัดการชุมนุม

รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งที่จะบานปลายไปสู่ความรุนแรง ทั้งจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือมือที่สามที่จ้องจะก่อเหตุ

ยิ่งการชุมนุมครั้งนี้มีแผนเตรียมที่จะเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่่งยิ่งทำให้สถานการณ์เปราะบางจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันได้ง่าย 

การดำเนินการต่างๆ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการเติมเชื้อความรุนแรงอันสุ่มเสี่ยงจะทำให้ทุกอย่างบานปลาย กลายเป็นความเป็นความรุนแรงในอนาคต