posttoday

ทนพิษบาทแข็งไม่ไหว เอสเอ็มอี ขยับตัวลุยตลาดของที่ระลึกกว่า 7 แสนล้านบาท

27 มิถุนายน 2562

นายกสมาคมของขวัญฯ ชี้ช่องธุรกิจรายย่อยหนีบาทแข็งฉุดตลาดส่งออก ปรับตัวเจาะกำลังซื้อนักท่องเที่ยว 3.3 ล้านคนต่อปี

นายกสมาคมของขวัญฯ ชี้ช่องธุรกิจรายย่อยหนีบาทแข็งฉุดตลาดส่งออก ปรับตัวเจาะกำลังซื้อนักท่องเที่ยว 3.3 ล้านคนต่อปี

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ในระยะยาวจะส่งผลกระทบอย่างหนักกับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำตลาดสินค้าส่งออกที่ไม่มีสายป่านยาวเพียงพอ รวมถึง เอสเอ็มอี ในกลุ่มธุรกิจสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ซึ่งส่วนใหญ่มีตลาดหลักในต่างประเทศ ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และเตรียมจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อได้ทันก่อนช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ในช่วงปลายปี

ทนพิษบาทแข็งไม่ไหว เอสเอ็มอี ขยับตัวลุยตลาดของที่ระลึกกว่า 7 แสนล้านบาท จิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีไทย ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาในการทำธุรกิจพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาสนับสนุนด้านนโยบาย รวมถึง เอสเอ็มอี หลายรายได้ปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ แต่ก็พบว่าไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาในการทำตลาดของเอสเอ็มอีไทย ในขณะนี้

ทั้งนี้ สมาคมฯ มองเห็นโอกาสจากวิกฤตดังกล่าวในอุตสาหกรรมตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไทย จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุรายได้จากภาคอุตสาหกรรมฯ อยู่ที่ 3.3-3.4 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นมูลค่ากว่า 7.2 แสนล้านบาท หรือ ราว24% เป็นตลาดสินค้าของที่ระลึก รวมเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ตระกร้าของขวัญกลุ่มอาหาร (ฟู้ด กิฟต์) ซึ่งสินค้าในกลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มเติบโตและยังมีช่องว่างการทำตลาดอยู่ และเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทย ที่ควรปรับตัวธุรกิจ พัฒนาคุณภาพเพื่อโฟกัสตลาดกลุ่มดังกล่าว

"สมาคมฯ ได้สำรวจข้อมูลเชิงลึกในตลาดของที่ระลึก นักท่องเที่ยว พบว่ามีสินค้าของที่ระลึกบางชิ้นใช้ภาษาไทยผิดๆ เช่นคำว่า วัด ตัวสะกดตกไม้หันอากาศ กลายเป็นคำว่า วด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจกลุ่มนี้ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจมีผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่ไม่ใช่คนไทย ซึ่งในฐานะเจ้าของประเทศ ควรหันมาเร่งพัฒนาสินค้าไปจนถึงแพคเกจจิงให้มีคุณภาพเพื่อรองรับกำลังซื้อในตลาดดังกล่าว" นายจิรบูลย์ กล่าว