posttoday

หุ่นยนต์ไฮบริดเพื่ออุตฯ ครั้งแรกในโลก

23 มีนาคม 2562

สตาร์ทอัพไทยกับการสร้างหุ่นยนต์ไฮบริด

สตาร์ทอัพไทยกับการสร้างหุ่นยนต์ไฮบริด ที่สามารถไต่ เกาะได้ รวมถึงทำหน้าที่ไปในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณจีพีเอส ด้วยตนเอง จากทีมผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนที่เป็นทั้งวิศวกร และนักวิจัยมาสร้างหุ่นยนต์ที่พิเศษด้วยกัน ถือเป็นหุ่นยนต์ไฮบริด เพื่อภาคอุตสาหกรรมครั้งแรกในโลก

“ภาณิน เพียรโรจน์” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อ๊อซ โรโบติกส์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ก่อตั้งจากผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน ที่มีความเชี่ยวชาญและถนัดแตกต่างกัน มาร่วมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่หุ่นยนต์ไฮบริด หรือโดรนที่มีขา โดยมีคุณสมบัติทั้งการเดินได้ในพื้นที่มีความแตกต่าง และยังยึดเกาะผนังได้ รวมถึงบินได้และเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเกาะติดและไต่ได้เป็นครั้งแรกในโลก

ทีมก่อตั้งประกอบด้วย ตนเอง“ภาณิน” วิศวกรไฟฟ้า จบปริญญาโทจาก ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อมา “ผศ.ดร.พชระ รัศมี” อาจารย์ภาค วิชาวิศวกรรมที่ Osaka University ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการทําวิจัยด้านหุ่นยนต์และ “ลภนชัย จิรชูพันธ์” จบการศึกษา Electrical Engineering and Computer Science จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐ มีความเชี่ยวชาญการสร้างแผนที่และการนําทางของหุ่นยนต์ ถือว่าทั้งสามคนเป็นวิศวกรและเป็นนักวิจัยทั้งหมด

การสร้างหุ่นยนต์ไฮบริด จุดเริ่มต้นจากการวิจัยของ “ผศ.ดร.พชระ” มีการทำ แล็บวิจัยในด้านหุ่นยนต์มายาวนาน และทำวิจัยหุ่นยนต์ไฮบริด “Hybrid Robot” โดยเป็นหุ่นยนต์ผสมระหว่างหุ่นยนต์บินกับหุ่นยนต์เดิน และเทคโนโลยี ขาแม่เหล็กบนหุ่นยนต์ 6 ขา ส่งผลให้หุ่นยนต์เกาะ ไต่ขึ้นลง และทรงตัวได้บนผนังเหล็กในทุกทิศ ส่วนตนเองได้เคยทําโดรนตรวจสายไฟบนภูเขาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ “ลภนชัย” เคยช่วย ทำโดรนค้นหาและกู้ภัยในป่าที่ไม่มีจีพีเอส

“หุ่นยนต์ไฮบริด” ที่มีขาเป็นแมงมุม ทำให้ใช้งานเข้าไปในพื้นที่ไม่มีระบบนำ ทางจีพีเอสได้ หรือในพื้นที่อับ รวมถึงนำไปใช้ในพื้นที่มีความร้อนสูง พื้นที่มีสารเคมี และมีปัญหาเรื่องแก๊สพิษต่างๆ ที่ไม่ควรให้มนุษย์เข้าไปทำงาน ตลอดจนการนำเข้าไปใช้ในภารกิจค้นหาด้านต่างๆ โดยเทคโนโลยีของบริษัทที่ต้องการสร้างหุ่นยนต์เพื่อให้คนทำงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

“ทั้ง 3 คนได้นำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาร่วมผสมสร้างหุ่นยนต์ไฮบริดที่มีความพิเศษ ทั้งสามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ไม่มีสัญญาณจีพีเอส รวมถึงเทคโนโลยีแผนที่นำทาง 3 มิติ และการระบุตนเองได้ เป็นการผสมผสานสร้างเทคโนโลยีร่วมกัน” ภาณิน กล่าว

สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ของหุ่นยนต์ คาดว่าจะเปิดตัวสู่ตลาดได้ในปี 2563 โดยบริษัทมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำฮาร์ดแวร์ ซึ่งอยู่ระหว่างทำวิจัยต่อเนื่องและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่างๆ

หุ่นยนต์ไฮบริดเพื่ออุตฯ ครั้งแรกในโลก

ภาณิน กล่าวต่อว่า ความสนใจสร้างสตาร์ทอัพในไทยมาจากความต้องการนำเทคโนโลยีที่ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ นำมาพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมและสู่ลูกค้า และต้องการร่วมผลักดันสตาร์ทอัพในไทยให้เติบโตมากขึ้น โดยได้จัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการในไทยช่วงปี 2561

“ความสนใจที่ต้องการสร้างสตาร์ทอัพ มาจากความสนใจในด้านสตาร์ทอัพอยู่แล้ว และมองประเทศไทยมีโอกาสอย่างมาก รวมถึงทีมมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน” ภาณิน กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทยังเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผ่านโครงการ Angel Fund และได้รับทุนสนับสนุน รวมถึงมีภาคเอกชนที่เป็นรายบุคคล สนใจเข้ามาร่วมส่งเสริมและมีหน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เข้ามาสนับสนุนเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยที่เป็นพันธมิตรในต่างประเทศ รวมถึงมีลูกค้าในต่างประเทศที่ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์แล้ว ทั้งกรมดับเพลิง ของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น และบริษัทยังมีแผนไปร่วมงาน การแข่งขันโดรนที่มีขนาดใหญ่มากในโลก จะจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระยะต่อไป อีกทั้งมีความสนใจขยายตลาดสู่ทั้งประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง

“แนวโน้มความต้องการใช้หุนยนต์ในโลกมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยการทำงานให้ง่ายมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย” ภาณิน กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของบริษัทคือ การร่วมสร้างซอฟต์แวร์และการนำหุ่นยนต์ไฮบริดมาให้บริการแก่ลูกค้า รองรับความต้องการใช้งานในด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ภายใต้เทคโนโลยีของบริษัทที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา พร้อมวางเป้าหมายระยะยาวสู่การเป็นผู้นำหุ่นยนต์เคลื่อนที่ และผู้นำสร้างเทคโนโลยีแผนที่นำทาง 3 มิติ ทั้งในไทยและในตลาดต่างประเทศ