posttoday

8 ทายาทช่างศิลปหัตกรรม ปั้นผลิตภัณฑ์ไทยสยายปีก

19 กุมภาพันธ์ 2562

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (SACICT)

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (SACICT) ได้ประกาศเชิดชู “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2562” รวม 8 คน และมีผู้ได้รับการเชิดชูที่อายุน้อยสุดเพียง 22 ปี แต่มีความรักในงานหัตถกรรมไทยอย่างเต็มเปี่ยม โดยทั้ง 8 คน เป็นผู้สืบทอดหัตถศิลป์ไทย พร้อมผสมผสานการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อขยายตลาดต่อเนื่อง

ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทเครื่องจักสาน ได้แก่ “เพ็ญภักดิ์ แก้วสุข” ผู้สร้างหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่จาก จ.ชลบุรี มีเอกลักษณ์ไผ่การสานจากเดิมที่เป็นลายขัดธรรมดา ปรับประยุกต์และสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ ให้มีความสวยงามและสากลยิ่งขึ้น ทั้งจักสานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาทิ ช้าง มังกร รถตุ๊กตุ๊ก รถเบนซ์ เตาแกรบโบราณ และปลาตะเพียน รวมถึงได้ออกแบบลวดลายใหม่ เรียกว่า จักสานไม้ไผ่ลายประยุกต์

ประเภทเครื่องทอ ได้แก่ “จักษ์ภิรมย์ ศรีเมือง” ที่มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “ผ้ายก ผ้ามัดหมี่” จาก จ.มหาสารคาม โดยได้เข้ามาสืบทอดงานทอผ้ายกสังเวียนโบราณ พร้อมมีผลงานที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ผ้า 1 ผืน ได้รวบรวมเทคนิคการทอผ้าไว้ถึง 3 เทคนิค

“ติ๋ม ป้อมคำ” จาก จ.อุทัยธานีผู้พัฒนา “ผ้าทอลาวครั่ง” จาก จ.อุทัยธานี ที่ได้รับการฝึกฝนทอผ้าจากคุณแม่ตั้งแต่อายุ 15 ปี และร่วมกับพี่สาวจัดตั้งกลุ่มผ้าทอลาวครั่งขึ้น ภายใต้ชื่อ “กลุ่มสมจิตรผ้าทอพื้นเมืองบ้านเจ้าวัด” จ.อุทัยธานี พร้อมมุ่งอนุรักษ์และสืบสานเทคนิคการทำลวดลายแบบการจกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวลาวครั่งที่มีมาตั้งแต่อดีตและเน้นอนุรักษ์ลวดลายของโบราณโดยใช้รูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์

8 ทายาทช่างศิลปหัตกรรม ปั้นผลิตภัณฑ์ไทยสยายปีก

“ธนกร เปลี่ยนพิทักษ์” อายุ 25 ปี จาก จ.นนทบุรี ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ “ปักสะดึงกรึงไหม” เนื่องจากได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากครูสุรัตน์ จงดา และครูโอฬาร กกโอ เป็นผู้สอนวิชาการปักสะดึงกรึงไหมให้ และได้ร่วมทำงานปักชุดโขนละครพระราชทานชุดพรหมมาศ จนมีโอกาสได้รับฟังแรงพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ทรงมุ่งเน้นว่าศิลปหัตถกรรมของไทยก็ควรจะรักษาไว้ให้เป็นงานของคนไทยทำ จึงเป็นแรงบันดาลใจทำงานศิลปหัตถกรรมด้านการปักสะดึงกรึงไหม โดยเน้นปักในรูปแบบ “งานปักตาลปัตร และพัดยศ” ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา เนื่องจากงานปักชุดโขนละครเป็นงานที่มีผู้สืบสานและเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก

“บันเทิง ว่องไว” ผู้สร้างผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่จาก จ.สุรินทร์ ที่ได้เรียนรู้งานทอผ้าตั้งแต่ 15 ปี พร้อมพัฒนาฝึกฝนต่อเนื่อง และเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ในชื่อ “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านด่านเจริญ” ต่อมาได้ขยายสู่พิพิธภัณฑ์เรือนทอผ้า ขณะเดียวกันมีผลงานอนุรักษ์เทคนิคการมัดหมี่ลายโบราณที่สืบทอดลายมาจากบรรพบุรุษ เช่น ลายนาค ลายแหวนเพชร ลายเหลี่ยม ลายนกยูง เป็นต้น

“ลัดดา ชูบัว” ผู้พัฒนา “ผ้าทอนาหมื่นศรี” จาก จ.ตรัง ที่เริ่มทอผ้าจากคุณแม่ตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยผ้าทอนาหมื่นศรีมีลักษณะพิเศษคือ ผ้าห่มยกดอก ทั้งเป็นโครงสร้างของผืนผ้าและลวดลายมีบางประการที่ต่างจากผ้าทอทั่วไป และมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจยิ่ง โดยนำผ้าผืนมาแปรรูปให้เป็นกระเป๋า หมวก ผ้าพันคอ และอื่นๆ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น

8 ทายาทช่างศิลปหัตกรรม ปั้นผลิตภัณฑ์ไทยสยายปีก

“ณัฐกฤตกรณ์ ปินใจ” อายุ 22 ปี จาก กทม. กับการสร้างสรรค์ผลงาน “ศิลปะจากแผ่นโลหะ” เกิดขึ้นจากความชื่นชอบงานศิลป์บนแผ่นโลหะ เริ่มต้นจากการลงมือศึกษางานปิ่นปักผมดอกไม้ไหวโบราณของล้านนา จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจพัฒนาต่อเนื่อง และเปิดเพจออนไลน์โดยใช้ชื่อ “สุวรรณมาลาคำ” เพื่อแสดงผลงานและเผยแพร่เทคนิคการทำงานให้กับผู้ที่สนใจ ขณะเดียวกันมีการประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบศิลปะจากแผ่นโลหะอย่างเช่น ดอกไม้ไหว ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มาลัย เป็นต้น รวมถึงการนำหินสีมาประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน

ประเภทเครื่องโลหะ “พิชิต นะงอลา” จาก จ.เชียงใหม่ โดยทำงานหัตถกรรม “ดุนโลหะ” เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่า มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีมานานกว่า 100 ปี ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ การนำเอาลวดลายไทยและล้านนามาผสมกับศิลปะร่วมสมัย คิดสร้างสรรค์ลวดลายจนสลักดุนลงบนชิ้นงานได้ พร้อมใช้เครื่องมือตอกลงบนแผ่นโลหะและดุนให้สูง เพื่อให้เกิดลวดลายตามต้องการ ที่มีทั้งความง่าย ความยาก ความละเอียด อ่อนช้อย สลับซับซ้อนรวมไว้ด้วยกัน