posttoday

‘Kotozna’ แพลตฟอร์ม เชื่อมทุกการสื่อสาร

30 พฤศจิกายน 2561

หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจวงการสตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นกับ “โกโตะ” ผู้ก่อตั้ง “Kotozna” ที่ต้องการสร้างเครื่องมือแปลภาษาสำหรับการใช้งานให้แก่คนทั่วโลก

เรื่อง...วราภรณ์ เทียนเงิน 

หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจวงการสตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นกับ “โกโตะ” ผู้ก่อตั้ง “Kotozna” ที่ต้องการสร้างเครื่องมือแปลภาษาสำหรับการใช้งานให้แก่คนทั่วโลก ได้สามารถสื่อสารผ่านทุกแพลตฟอร์มของสังคมออนไลน์ (Social Network Service หรือ SNS) ที่เชื่อมโยงกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด

“เกนริ โกโตะ” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง โคโตซึนะ (Kotozna) เปิดเผยว่า ได้ก่อตั้งบริษัทมาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ได้สร้างเครื่องมือ “โคโตซึนะ” ในการเชื่อมต่อทุกแฟลตฟอร์มในการสื่อสาร (Messaging Platform) จากนั้นจะแปลความหมายออกมา ทำให้สามารถพูดคุยกันผ่านโชเชียลเน็ตเวิร์กเซอร์วิส (SNS) ที่แตกต่างได้ทั้งหมด แม้ว่าจะใช้ระบบในการสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน

การใช้เครื่องมือ “Kotozna” โดยทำให้ผู้ใช้งานสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด และใช้งานได้ผ่านทุกระบบการสื่อสาร (Messaging) ได้ทั้งหมด ทั้งไลน์ (Line) Facebook Messenger และวีแชท (WeChat) โดยจะสามารถเชื่อมโยงและพูดคุยกันได้ทั้งหมด ซึ่งใช้ระยะเวลาแปลข้อความเพียง 5 วินาทีเท่านั้น และสามารถใช้ได้ในทุกภาษาบนโลกนี้ หรือมีมากกว่า 100 ภาษาได้ทั้งหมด

‘Kotozna’ แพลตฟอร์ม เชื่อมทุกการสื่อสาร

“เป้าหมายสำคัญในการพัฒนา เครื่องมือแพลตฟอร์มในการสื่อสาร เพื่อทำให้ขจัดปัญหาในเรื่องกำแพงทางภาษาออกให้หมด ทำให้ใช้งานได้ในทุกภาษา และเชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์มการสื่อสาร ยกตัวอย่าง เมื่อลูกค้ามีแอพพลิเคชั่นไลน์ใช้งานอยู่แล้ว เพียงการสแกนคิวอาร์โค้ด หลังจากนั้น โคโตซึนะจะเข้าไปอยู่ในระบบไลน์ทำให้ลูกค้าสามารถสื่อสารผ่านกันได้แม้ว่าจะใช้งานคนละภาษา” โกโตะ กล่าว

ทั้งนี้ ได้เริ่มเปิดให้ลูกค้าได้ใช้บริการผ่านระบบแล้ว โดยลูกค้าทั่วไปสามารถใช้งานได้ฟรี เพียงการสแกนผ่านคิวอาร์โค้ด พร้อมกันนี้ สนใจเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร กลุ่มลูกค้าโรงแรม และกลุ่มบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ในการทำระบบหลังบ้านทำให้ช่วยระบบสื่อสารให้แก่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ซึ่งลูกค้าองค์กรจะมีการคิดอัตราค่าบริการรายเดือน

‘Kotozna’ แพลตฟอร์ม เชื่อมทุกการสื่อสาร

ขณะเดียวกัน จะเจาะตลาดกลุ่มนักพัฒนา แชทบอท (Developer Chatbot) ในการนำระบบไปใช้งานและพัฒนาบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีเครื่องมือในการสื่อสารที่สะดวกยิ่งขึ้น จากจุดแข็งของระบบอยู่ที่การสามารถเชื่อมต่อในทุกแพลตฟอร์มการสื่อสาร

“โกโตะ” กล่าวว่า การสร้างระบบในครั้งนี้ได้มีทีมงานในบริษัทรวม 11 คน โดยได้จัดตั้งบริษัทอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งที่เมืองโตเกียวและคิวชู โดยที่คิวชู เป็นพื้นที่บ้านเกิดและต้องการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่บ้านเกิด โดยบริษัทมีทีมงานมาจากหลายประเทศ

ทั้งนี้ ในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มเจาะตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น ผ่านการจัดงานมหกรรมกีฬาต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันรักบี้โลก และปีต่อไปจะจัดงาน โอลิมปิก 2020 ส่งผลทำให้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศ และมีความจำเป็นใช้แพลตฟอร์มแปลภาษามากขึ้น คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด 10-20% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปญี่ปุ่น ราว 40 ล้านคน/ปี

ส่วนการเข้ามาขยายตลาดในไทยครั้งนี้ ผ่านโครงการขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) คัดเลือกมาร่วมออกงาน “CEBIT ASEAN” เพื่อหาพันธมิตรดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและมีแผนขยายตลาดอาเซียนต่อไป