posttoday

‘เอเกรน’ โยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ

22 ตุลาคม 2561

โยเกิร์ต กราโนล่า ที่นำเสนอในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างและสร้างสรรค์

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

จากธุรกิจของคนรุ่นใหม่กับการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบรนด์เอเกรน (A Grains) โดยเป็น โยเกิร์ต กราโนล่า ที่นำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างและมีความสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างสินค้าที่เริ่มจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก ส่งผลให้แบรนด์มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่กระจายในทั่วประเทศแล้ว

“ณัฎฐ์เมธี ธนกิตต์วุฒิกุล” ผู้บริหารผลิตภัณฑ์เอเกรน (A Grains) เปิดเผยว่า จากการที่ตนเองเป็นนักวิจัยที่สามารถพัฒนาสินค้าได้เอง จึงสนใจสร้างแบรนด์ “เอเกรน” โดยเป็น โยเกิร์ต กราโนล่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจในการดูแลสุขภาพ

‘เอเกรน’ โยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ

“ก่อนหน้านี้ได้ทำงานประจำและสนใจอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง จึงได้นำองค์ความรู้ที่ได้เป็นนักวิจัยมาต่อยอดสู่การพัฒนาสินค้าใหม่ โดยเลือกพัฒนาสินค้าจากการดูความต้องการของลูกค้า หลังจากนั้น จึงได้สร้างสินค้าให้ตรงกับตลาดมากที่สุด” ณัฎฐ์เมธี กล่าว

“เอเกรน” โยเกิร์ต กราโนล่า ได้มีผลิตภัณฑ์รวม 4 รสชาติ ได้แก่ รสกล้วย รสสตรอเบอร์รี่ รสแครนเบอร์รี่ และรสดาร์กช็อกโกแลต โดยนำเสนอสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ทั้งการเป็นโยเกิร์ตที่มีรสชาติเข้มข้น และเลือกกราโนล่าที่เป็นเม็ดโตแบบคัดพิเศษ อีกทั้งมีกลิ่นหอมของผลไม้ ซึ่งผลไม้ที่เลือกมาต่างเป็นซูเปอร์ฟรุ๊ต

ทั้งนี้ การเริ่มต้นธุรกิจในระยะแรกได้ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5 หมื่นบาท และมีพนักงานรวม 3 คน พร้อมกับได้คัดเลือกโรงงานที่ต้องการร่วมพัฒนาสินค้า โดยได้เลือกโรงงานที่มีมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสู่ลูกค้า เนื่องจากตนเองเป็น
นักวิจัยสามารถพัฒนาสินค้าได้เองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นในการสร้างโรงงานเอง

‘เอเกรน’ โยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ

ขณะที่ช่องทางจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันจะมีทั้งการผ่านร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกต่างๆ ครอบคลุมมากกว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศแล้ว รวมถึงการทำตลาดผ่านออนไลน์ เฟซบุ๊ก เอเกรน https://www.facebook.com/agrainsthailand

“จากการทำธุรกิจที่มีเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5 หมื่นบาท หลังจากนำสินค้าเข้าไปทำตลาดผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ ทำให้ต้องขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยได้เข้าไปคุยกับสถาบันการเงินผ่านงานเอ็กซ์โปก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ แต่เมื่อตนเองได้ไปเจอบูธของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำที่ดีมาก และแนะนำให้ไปคุยกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และ บสย.จะช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้” ณัฎฐ์เมธี กล่าว

ณัฎฐ์เมธี กล่าวต่อว่า การขยายธุรกิจก็ได้รับการส่งเสริมจาก บสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้บริษัทสามารถขยายการผลิตและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น โดยในปัจจุบันธุรกิจสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นจากมีพนักงาน 3 คน สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 4 ล้านบาท/เดือนแล้ว ซึ่งยังมีจำนวนพนักงานเท่าเดิมอยู่ เนื่องจากการผลิตสินค้ามีโรงงานร่วมผลิตให้แบรนด์เอเกรน (A Grains) ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มลูกค้าดูแลสุขภาพ (เฮลตี้) ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่มีดีไซน์ ทำให้เลือกรับประทานได้อย่างสะดวก เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าในปัจจุบัน จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี