posttoday

‘Take Me Home’ ผู้นำมะเขือเทศไทย

13 ตุลาคม 2561

“Take Me Home” ผู้สร้างแบรนด์มะเขือเทศรายแรกๆ และสร้างฟาร์มให้เติบโตสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจมะเขือเทศของประเทศไทย

โดย วราภรณ์ เทียนเงิน  

“Take Me Home” ผู้สร้างแบรนด์มะเขือเทศรายแรกๆ และสร้างฟาร์มให้เติบโตสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจมะเขือเทศของประเทศไทย ผสมด้วยการมุ่งพัฒนาฟาร์มอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการฟาร์ม

“ปนัดดา เคปเปิล” ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดี.เอ.ที.ที เปิดเผยว่า บริษัทมีฟาร์มมะเขือเทศอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยได้ทำตลาดมะเขือเทศแบรนด์ “Take Me Home” และ “Tomato House” โดยมีทั้ง 5 สายพันธุ์หลัก และมีสินค้ารวม 15 ราย ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ในไทย ที่มีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก ทำให้มีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จากที่ผ่านมามีการส่งออกไปต่างประเทศทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง

‘Take Me Home’ ผู้นำมะเขือเทศไทย

ทั้งนี้ก่อนที่จะทำธุรกิจฟาร์มมะเขือเทศได้จัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจด้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในปี 2547 โดยมีการจำหน่ายพริกหวานให้แก่เกษตรกรจากความต้องการในตลาดมีสูง ทำให้เกษตรกรซื้อไปปลูกได้ราคาจำหน่ายที่สูงถึง 80 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่ต่อมาราคากลับลดลงเหลือ 10 บาท/กก. กระทบเกษตรกรอย่างมาก และเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ซึ่งจากการเห็นปัญหาเกษตรกรที่เกิดขึ้น จึงอยากสร้างธุรกิจเกษตรที่ยั่งยืน ประกอบกับเห็นว่าในประเทศไทยช่วง 10 กว่าปีก่อนยังไม่มีมะเขือเทศที่มีคุณภาพดีและน่ารับประทาน

ทำให้ตนเองและสามีที่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจที่จะสร้างฟาร์มเอง โดยการปลูกมะเขือเทศและทำเองในทุกขั้นตอน รวมถึงการชวนเกษตรกรมาปลูกมะเขือเทศก็ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งระยะแรกได้ปลูกมะเขือเทศผลใหญ่ และเมื่อได้ผลผลิตนำไปจำหน่ายในตลาดก็ไม่มีคนซื้อ ทุกคนมองว่าเป็นผลใหญ่เหมือนแอปเปิ้ล ทำให้ได้กลับมาทบทวนใหม่ พบว่าตลาดสดไม่ใช่คำตอบ ดังนั้นจึงหันมาเจาะตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ตในเชียงใหม่ มุ่งตลาดบน และได้เข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตลินปิง ต่อมาได้ขยายสู่ห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศไทย

‘Take Me Home’ ผู้นำมะเขือเทศไทย

พร้อมกันนี้ การทำฟาร์มมะเขือเทศอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ที่เป็นการปลูกในโรงเรือนและมีเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ ที่เป็นประเทศมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยได้มีการทำวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างโรงเรือนปลูกมะเขือเทศให้มีความเหมาะสมกับสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน จึงได้โรงเรือนที่เหมาะสมกับการปลูก อากาศเย็นกว่าข้างนอก 3-5 องศาเซลเซียส ส่งผลดีได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

“ในช่วงแรกได้ทำโรงเรือนเองและดูแลอย่างดี ต่อมาเกิดพายุเข้ามาทำให้ผลผลิตมะเขือเทศที่กำลังจะเก็บ โดนพายุไป 5,000-6,000 ต้น โรงเรือนพัง ทำให้เราไปต้องศึกษาข้อมูลเพิ่ม เพื่อสร้างโรงเรือนที่เหมาะกับไทยและได้ข้อมูลจากเนเธอร์แลนด์ จึงพัฒนาร่วมกัน” ปนัดดา กล่าว

ต่อมาได้นำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาในการจัดการระบบฟาร์ม ทั้งระบบน้ำ การดูแลความชื้น และสภาพอากาศ จึงทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30 กิโลกรัม/ตร.ม./ปี จากเดิมอยู่ที่ 7 กิโลกรัม/ตร.ม./ปี รวมถึงช่วยลดต้นทุนแรงงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติก็ได้ร่วมมือจากเอกชนของเนเธอร์แลนด์ในการพัฒนา

‘Take Me Home’ ผู้นำมะเขือเทศไทย

“ปนัดดา” กล่าวต่อว่า ฟาร์มยังมุ่งมั่นในการพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการฟาร์ม รวมถึงการมีเครือข่ายเกษตรกรที่ร่วมปลูกมะเขือเทศส่งบริษัทแล้ว จึงส่งผลดีต่อเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง

แบรนด์มะเขือเทศ “Take Me Home” สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่แตกต่าง มีคุณภาพ การมุ่งเรียนรู้และนำเสนอสิ่งที่ดีสุด ทำให้บริษัทมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง