posttoday

ปั้นสมุนไพรแสนล้าน จาก ‘โรงงานผลิตพืช’

23 กันยายน 2561

การผลักดัน สร้างโรงงานต้นแบบ ผลิตพืชของประเทศไทยสู่หน่วยงานภาครัฐได้เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการที่ จ.นครพนม

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

แผนการผลักดัน สร้างโรงงานต้นแบบ ผลิตพืช (Plant Factory) ของประเทศไทยสู่หน่วยงานภาครัฐได้เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการที่ จ.นครพนม และจะเริ่มให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดในช่วงปี 2562 โดยการมีโรงงานผลิตพืชแบบปิด จึงสามารถควบคุมการผลิตสมุนไพร เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ที่ต้องการ หรือได้สารออกฤทธิ์ที่พร้อมใช้ได้มากกว่าปกติ 10-30 เท่า สำหรับการเริ่มที่ จ.นครพนม ถือเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดในประเทศไทยที่ประชาชนมีรายได้น้อย

“เฉลิมพล เกิดมณี” หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมสร้างโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่ จ.นครพนม มี 1 โรงงานขนาด 640 ตร.ม. พื้นที่การปลูกพืชประมาณ 8 ชั้น เริ่มจากการปลูกฟ้าทะลายโจร

การเลือกสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” เนื่องจากมีคุณสมบัติและผลการวิจัยออกมารองรับอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการรักษาและดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไอและเป็นหวัด ประกอบกับฟ้าทะลายโจรสามารถแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และสามารถปลูกพร้อมให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ปั้นสมุนไพรแสนล้าน จาก ‘โรงงานผลิตพืช’ เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช

ความสำคัญของการมีโรงงานผลิตพืช จึงกำหนดการให้สารออกฤทธิ์ที่ต้องการและมีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ รวมถึงดูแลให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน มีคุณภาพ โดยไม่มีการปนเปื้อนจากทั้งจุลินทรีย์ สารหนู โลหะหนัก และสารเคมีการเกษตร จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ซึ่งโรงงานผลิตพืชที่ จ.นครพนม ใช้งบลงทุน 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลผลิตสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ออกมาสู่ตลาดแล้ว จะนำไปแปรรูปผลิตยาที่โรงพยาบาลเรณูนคร จ.นครพนม เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรให้แก่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งใน จ.นครพนม กว่า 163 แห่ง และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีข้อมูลพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีการใช้ยาแผนปัจจุบัน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท จึงนำยาสมุนไพรไทยไปทดแทนและใช้เพิ่มเติมในยาแผนปัจจุบัน

เทคโนโลยีในการสร้างโรงงานผลิตพืชมาจากไบโอเทค ได้รับองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดและศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ “ศ.ไตโยกิ โคไซ” บิดาของ Plant Factory จากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น นำมาปรับใช้และดำเนินการที่ จ.นครพนม โดยญี่ปุ่นได้ทำโรงงานผลิตพืชเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว อีกทั้งนักวิจัยไบโอเทคได้สะสมองค์ความรู้ ทำวิจัย ทำแล็บ โรงงานผลิตพืชต่อเนื่องหลายปี

ปั้นสมุนไพรแสนล้าน จาก ‘โรงงานผลิตพืช’

“นพ.พรพจน์ สารทอง” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรณูนคร กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ผลิตสมุนไพรเพื่อใช้เองและใช้ในโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลของจังหวัดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และต้องการใช้วัตถุดิบสมุนไพรในปริมาณมาก แต่มีปัญหาวัตถุดิบที่ผ่านมาตรฐาน GAP มีน้อย

“เฉลิมพล” กล่าวต่อว่า ไบโอเทคพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่จังหวัดอื่น เพื่อนำไปสร้างโรงงานผลิตพืช โดยเฉพาะพืชสมุนไพร จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตร ต่อเนื่องไปสู่การแพทย์ ยารักษาโรค จากข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยมีมูลค่าประมาณ 7 หมื่น-1 แสนล้านบาท ส่วนตลาดสมุนไพรในโลกมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก และมีช่องว่างมหาศาล ดังนั้น จึงผลักดันให้ประเทศไทยขยายการผลิตและเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ

พร้อมกันนี้จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยผลิตพืชสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และยกระดับประเทศไทยสร้างผลิตภัณฑ์มุ่งเจาะตลาดบน (ไฮเอนด์) จึงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ให้เติบโตมากขึ้น

ปั้นสมุนไพรแสนล้าน จาก ‘โรงงานผลิตพืช’