posttoday

รัฐจูงใจเอสเอ็มอีเสียภาษี

22 กันยายน 2561

รัฐเร่งคลอดแพ็กเกจเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าระบบภาษี คาด 1-2 เดือนนี้ดำเนินการได้

รัฐเร่งคลอดแพ็กเกจเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าระบบภาษี คาด 1-2 เดือนนี้ดำเนินการได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น

"หลักการของมาตรการก็เหมือนกับการทำบัตรเครดิตที่ผู้ใช้บัตรยอมจ่ายค่าบัตรปีละ 4,000 บาท เพราะรู้สึกคุ้มกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับกลับมา ไม่ว่าจะเป็น จอดรถฟรี ได้ออกกำลังกาย ได้คูปองซื้อสินค้าต่างๆ รวมถึงการสะสมแต้มเพื่อใช้ซื้อสินค้าในอนาคต เป็นต้น" นาย กอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับมาตรการจูงใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงกองทุนที่ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือผู้ประกอบการจำนวนมาก ให้มีการบูรณาการกันมากขึ้น

ทั้งนี้ แรงจูงใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเริ่มตั้งแต่การเข้าทำอยู่ในระบบภาษีและทำบัญชีเดียว และให้แรงจูงใจตามขนาดของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยวัดตามจากการทำกำไร เช่น เริ่มมีกำไรเกิน 3 แสนบาท ซึ่งจะต้องเริ่มเสียภาษี ก็อาจจะได้สิทธิประโยชน์จากการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มมีกำไร 1-2 ล้านบาท อาจจะได้สิทธิเพิ่ม เช่น ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก ธพว.ได้คืนภาษีเร็วขึ้น และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไรเกิน 3 ล้านบาท ก็อาจจะได้รับการฝึกอบรมที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อนำไปเปิดตัวขยายธุรกิจต่างประเทศ โดยรัฐบาลอาจจะออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการสรุปแพ็กเกจแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีครั้งนี้ เริ่มต้นจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวถึงสามารถเข้าสู่แพ็กเกจนี้ได้ หลังจากนั้นหากมีกำไรมากขึ้นก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น เชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีที่มีอยู่ 3 ล้านราย เข้าสู่ระบบภาษีอย่างเต็มใจมากขึ้น ทำให้รัฐบาลได้เก็บภาษีได้เพิ่มและนำเงินส่วนนี้ไปให้สิทธิประโยชน์คืนกลับให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. 2561 รัฐบาลจะเริ่มสะสางปัญหากฎหมายระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ โดยเบื้องต้นจะให้มีการยกเลิกกฎระเบียบการทำธุรกิจของท้องถิ่นที่มีอยู่ถึง 7 แสนระเบียบ โดยให้ใช้ระเบียบเดียวกับส่วนกลางที่มีอยู่ 6,500 ระเบียบ หลังจากนั้นรัฐบาลคัดกรองระเบียบการทำธุรกิจ 1,000 ระเบียบ ที่มีอยู่จำนวนมากและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจขึ้นมาทำก่อน เช่น การทำวีซ่าและการขอใบอนุญาตของคนต่างประเทศ ที่ต้องใช้เอกสารถึง 44 รายการ ก็จะทำให้ง่ายขึ้น ลดการใช้เอกสาร และสามารถทำการบนเว็บไซต์จุดเดียวเสร็จ สามารถจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รอรับใบอนุญาตการทำงานโดยไม่ต้องเดินทางมารับ เป็นต้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจปิ้งย่างปัจจุบันมีขั้นตอนขออนุญาตมากที่คนทั่วไปไม่รู้ เช่น หากจะปิ้งย่างปลาหมึกกุ้ง ต้องขออนุญาตจากกรมประมง หากปิ้งย่างหมูเนื้อ ต้องขออนุญาตกรมปศุสัตว์ หากจะปิ้งย่างผักต้องขออนุญาตกรมส่งเสริมการเกษตร และการทำน้ำจิ้มยังต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งต่อไปจะมีการแก้ไขให้ขออนุญาตง่ายขึ้น เป็นใบอนุญาตการทำธุรกิจนี้เป็นการเฉพาะ