posttoday

กรมส่งเสริมอุตสากรรมปั้น“SMEs เกษตรแปรรูป”มืออาชีพ

04 กรกฎาคม 2561

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย สร้างมูลค่าเพิ่มโอกาสทางการตลาดและรายได้ให้ผู้ประกอบการลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย สร้างมูลค่าเพิ่มโอกาสทางการตลาดและรายได้ให้ผู้ประกอบการลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ ว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนิน “โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย ตามแนวทางประชารัฐ” มุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้สามารถแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการปรับเปลี่ยนจากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำ เป็นการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาดอย่างครบวงจร ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรแปรรูป เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ เข้มแข็ง และมั่งคง ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริม SMEs สู่ 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

โครงการฯนี้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มเกษตรกร ประชาชน และบุคลากรในห่วงโซ่ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ SMEs เกษตรรายใหม่ เป้าหมาย 55,000 คน/ 300 กลุ่มทั่วประเทศ ครอบคลุมสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมหลายรายการ อาทิ ข้าว ผลไม้ สมุนไพร เวชสำอาง ยางพารา นวัตกรรมจากไม้ พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ สินค้าประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นต้น โดยเฉพาะผลผลิตหรือวัตถุดิบส่วนเกินที่มีปีละร้อยละ ประมาณ 26-30 ผลผลิตที่ไม่ได้ขนาด รวมถึงสินค้าเกษตรจากระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ จะนำมาแปรรูปโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ และลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานรากด้วย

กรอบแนวคิดการดำเนินโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรฯ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ

1.สร้างองค์ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของกลุ่มเกษตรแปรรูป ให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการ การทำบัญชีเดียว การรวมกลุ่มผลิต การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนามาตรฐานสินค้า และการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด

2.ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เป้าหมาย 500 กลุ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยการแปรรูปและพัฒนาวัตถุดิบจากผลิตผลการเกษตร โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย สอดรับกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

3.ส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ เป้าหมายนำร่อง 100 กลุ่ม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรแปรรูป ให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่มีความรู้และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“อนาคตคาดว่า ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการต่อยอดพัฒนายกระดับธุรกิจได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ทั้งยังคาดว่า จะเกิดการจัดตั้งหน่วยผลิตแปรรูปในชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 จากทั้งหมด 300 กลุ่ม และกลุ่มที่จัดตั้งยังเกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มชุมชนกับ SMEs/โรงงานอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้กับผู้ประกอบการ SMEs เกษตร สามารถกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ ทั้งยังเกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ SMEs เกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็นช่องทางการตลาด ซึ่งจะช่วยขยายช่องทางการซื้อขายสินค้า รวมทั้งพัฒนาต่อยอดธุรกิจของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วย” นายจารุพันธุ์ กล่าว