posttoday

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา

23 มิถุนายน 2561

โมเดลของการรวมกลุ่มเกษตรกรใน ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา"

โดย วราภรณ์ เทียนเงิน

โมเดลของการรวมกลุ่มเกษตรกรใน ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา" เพื่อร่วมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงการมีคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม จึงร่วมเป็นพลังผลักดันและสร้างผักพื้นบ้าน ผักสดต่างๆ และผลไม้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

"สราวุธ วงค์กาวิน" สมาชิก "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา" ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา (Maetha) ที่เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือน และจะมีผลผลิตทางการเกษตรจากในกลุ่ม ที่เป็นทั้งผักพื้นเมือง และผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป รวมถึงการสร้างมาตรฐานของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม

พร้อมกันนี้ในพื้นที่แม่ทายังมีการรวมกลุ่มเป็น "แม่ทา ออร์แกนิก" ของผู้ประกอบการในพื้นที่ประมาณ 20 ราย เพื่อร่วมมือสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการเกษตรให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา

"สราวุธ" กล่าวต่อว่า ตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำการเกษตรต่อจากรุ่นคุณพ่อที่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ต.แม่ทา และคุณพ่อได้ทำต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยเป็นการทำผักที่เป็นเกษตรอินทรีย์มาต่อเนื่อง เพราะเป็นหัวใจของการเกษตรอย่างมั่นคงและช่วยลดต้นทุนระยะยาว จึงได้เริ่มทดลองและมีองค์กรเข้ามาแนะนำการปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ และปัจจุบันได้ทำเกษตรสู่ออร์แกนิกแล้ว

"จากการได้ทำการเกษตร ได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาตลอด จึงเข้าใจได้ว่าการทำเกษตรที่ยั่งยืนจะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยและช่วยลดต้นทุนได้ระยะยาว แตกต่างจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี เพราะต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เห็นได้จากราคาสารเคมีการเกษตรเพิ่มขึ้นทุกปีและขึ้นระดับสูง แต่รายได้ของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นสูงตาม อัตราดังกล่าวกลับเป็นหนี้เพิ่มทุกปี" สราวุธ กล่าว

สำหรับผักที่ได้ปลูกและทำตลาดจะเน้นผักพื้นบ้าน ทั้งผักเชียงดา ผักหวานป่า ผักปลัง ผักหนาม เป็นต้น รวมถึงมีผลไม้และสินค้าแปรรูปจากการเกษตร โดยมีช่องทางทำตลาดผ่านตลาดในเมือง

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา

ขณะเดียวกัน จากการที่ได้รวมกลุ่มอยู่ในเครือข่าย "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา" และได้รับการส่งเสริมจากบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งช่องทางการทำตลาดอย่างครบวงจร รวมถึงการได้ส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทลงมาในพื้นที่ชุมชน เพื่อสอบถามและให้คำแนะนำการร่วมปรับปรุงมาตรฐาน และการผลิต

พร้อมกันนี้ยังสอบถามถึงเกษตรกรในกลุ่มว่ามีความต้องการด้านใด เพื่อให้การช่วยเหลือและพัฒนา โดยได้จัดส่งทั้งรถขนส่ง รถห้องเย็นในการขนส่งสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างอาคารเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่จะนำผักมาขายหรือจัดกิจกรรมต่างๆ

สำหรับช่องทางทำตลาดได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในกลุ่มนำสินค้าผักไปจำหน่ายใน "จริงใจมาร์เก็ต" ที่เป็นตลาดของเซ็นทรัล และวางจำหน่ายในท็อปส์ จ.เชียงใหม่ ทำให้ยอดขายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และลูกค้าในเมืองรู้จักผักพื้นบ้านมากขึ้น

"สราวุธ" กล่าวต่อว่า ตัวเองพร้อมที่จะนำเสนอผักพื้นบ้าน ผักและผลไม้ต่างๆ สู่กลุ่มลูกค้า พร้อมกับการสร้างมาตรฐานการผลิตที่ดีต่อไป และการขยายทำตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำให้สมาชิกในเครือข่าย มีความเข้มแข็ง เพราะจะส่งผลดีต่อชุมชนในระยะยาว