posttoday

จอกเก็บน้ำยาง นวัตกรรมไทยลุยส่งออก

21 มิถุนายน 2561

สตาร์ทอัพด้านการเกษตร “วอนนาเทค” ผู้ผลิตจอกเก็บน้ำยางพารา นวัตกรรมไทย

โดย...วารุณี อินวันนา

สตาร์ทอัพด้านการเกษตร “วอนนาเทค” ผู้ผลิตจอกเก็บน้ำยางพารา นวัตกรรมไทย ก้าวเข้าสู่ยุคพึ่งพาตัวเอง วางแผนขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้า 1 ล้านใบ

นันทกาญจน์ มุรศิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอนนาเทค ผู้ผลิตจอกเก็บน้ำยาง นวัตกรรมไทย กล่าวว่า ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 2557 และขอสิทธิบัตรในงานวิจัยและพัฒนาวัสดุรองน้ำยางไม่ให้ติดจอกยาง โดยอาศัยนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำมาต่อยอดพัฒนาเป็นจอกเก็บน้ำยาง

ทั้งนี้ คุณสมบัติพิเศษ 3 อย่าง ที่เป็นนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย จะมีเทหรือยกง่าย ใช้เวลาน้อยในการเก็บ ลดปริมาณกรดไขมันระเหย (Volatile Fatty Acid : VFA) ที่เกิดจากเชื้อและการปนเปื้อนตกค้างในจอก ทำให้น้ำยางมีคุณภาพ เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการปรับสภาพน้ำยาง เนื้อเหนียวทน ใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เศษยางไม่กลืนเป็นเนื้อเดียวกับภาชนะจนลอกไม่ออกอย่างจอกยางทั่วไป ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของเกษตรกรได้ในระยะยาว” นันทกาญจน์ กล่าว

ขณะที่การวิจัยการจัดเก็บน้ำยางจากถ้วยที่ทำจากกะลามะพร้าวและพลาสติกอื่นๆ พบว่าจะสูญเสียน้ำยางเฉลี่ยถ้วยละ 5-10 กรัม หาก 1 ไร่ มีต้นยาง 80 ต้น จะสูญเสียน้ำยาง 80 ถ้วย ซึ่งประเทศไทยมีการปลูกยางทั่วประเทศกว่า 20 ล้านไร่ การใช้ถ้วยแบบเดิมๆ ทำให้สูญเสียน้ำยางมหาศาล

“งานวิจัยนี้เราก็เป็นหนึ่งในทีม เห็นว่าสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าที่ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน วันนี้จึงสวมหมวก 2 ใบ คือเป็นอาจารย์ด้วย ซึ่งจะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้า และเป็นสตาร์ทอัพด้วย”นันทกาญจน์ กล่าว

สำหรับในช่วงแรกได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงินกินเปล่า ส่วนเครื่องจักรในการผลิตจอกยาง ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

ปี 2561 เข้าสู่ปีที่ 5 ของการพัฒนานวัตกรรมจอกเก็บน้ำยางพารา ที่มีความเข้มแข็งไม่ต้องอยู่ภายใต้โครงการบ่มเพาะด้วยทุนของภาครัฐอีกต่อไป ต้องหาทุนทำธุรกิจด้วยตัวเอง ตั้งเป้ายอดขายไว้ประมาณ 1 ล้านบาท

ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ยอดขายดีขึ้นมาจากความพร้อม เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนไปแล้วประมาณ 5 ล้านบาท เป็นการลงทุนในเครื่องจักรใหม่เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตเข้ามาเสริมแล้วมี 3 เครื่อง จากเดิมใช้เครื่องจักรมือสองเพียง 1 เครื่อง การพัฒนานวัตกรรม วัตถุดิบ คน เช่าพื้นที่โรงงาน ปัจจุบันใช้เครื่องจักรใหม่เทคโนโลยีทันสมัยราคายางพารามีการปรับตัวสูงขึ้นจาก 30-40 บาท/กก. เป็น 60-70 บาท/กก. เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ภาคธุรกิจใช้ยางพารามากขึ้น ซึ่งในอดีตเมื่อราคายางสูงขึ้น ยอดสั่งซื้อก็จะเพิ่มตามไปด้วย หากราคายางลดยอดขายก็จะหล่น ราคาจอกยางจับต้องได้วันนี้อยู่ที่ 4-5 บาท/จอก ไม่สูงมากเหมือนช่วงแรกที่ราคา 8-10 บาท/จอก

รวมถึงทาง สวทช.ยังช่วยหาตลาดต่างประเทศด้วย เช่น ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่มองว่ามีโอกาสสูง เพราะเป็นประเทศที่ปลูกยางพาราจำนวนมากเช่นเดียวกัน จากการนำสินค้ามาแสดงมีเกษตรกรและผู้นำเข้าสนใจเข้ามาสอบถามจำนวนมาก

นอกจากนี้ จะมีการทำตลาดผ่านสหกรณ์ชาวสวนยางในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น สำหรับปี 2560 ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ประมาณ 1 แสนใบ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่ทางภาคใต้ เพราะต้นทุนการขนส่งต่ำ

“กว่าจะมาถึงระดับนี้ น้ำตาไหลหลายปี เพราะต้องสร้างการยอมรับให้กับชาวสวนในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา  ทำให้นวัตกรรมมีราคาที่จับต้องได้ ต้องพัฒนาตลอดช่วงที่ผ่านมา” นันทกาญจน์กล่าว