posttoday

‘ฟรุ๊ต แคปปิตอล’ เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าลำไย

09 มิถุนายน 2561

ผลไม้ไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและมียอดคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) จากลูกค้าต่างประเทศคึกคัก รวมถึง “ลำไย”

โดย วราภรณ์ เทียนเงิน

ผลไม้ไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและมียอดคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) จากลูกค้าต่างประเทศคึกคัก รวมถึง “ลำไย” ที่มีความต้องการต่อเนื่องจากตลาดในประเทศจีน บริษัท ฟรุ๊ต แคปปิตอล สามารถวางแผนธุรกิจ นำเทคโนโลยีมาใช้ผลักดันการส่งออกลำไยสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ชรัตน์ เนรัญชร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรุ๊ต แคปปิตอล เปิดเผยว่า บริษัทได้ประกอบธุรกิจในการส่งออกลำไยไปประเทศจีน ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใน จ.จันทบุรี และมีพื้นที่ปลูกรวมมากกว่า 200 ไร่ ที่ผ่านมามีการส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 100 ตัน/ปี

ทั้งนี้ การส่งออกไปตลาดหลักประเทศจีน เนื่องจากมีความต้องการในระดับสูง ทำให้มีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับชาวจีนให้ความชื่นชอบผลไม้ โดยเฉพาะลำไย ตามความเชื่อของประเทศจีน ถือเป็นผลไม้มงคลที่เป็นตรามังกร ประกอบกับการหาซื้อลำไยสดจะหาได้ยากในประเทศจีน บริษัทจึงมุ่งส่งออกลำไยสดเป็นหลัก

บริษัทวางแผนทางการบริหารจัดการฟาร์มและสินค้า รวมถึงการส่งออก ทำให้ลำไยมีผลผลิตได้ต่อเนื่องในระยะเวลา 9 เดือน เพื่อไม่ให้ตรงกับลำไยของภาคเหนือที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงฤดูกาลหลักของลำไย จึงไม่เกิดปัญหาลำไยล้นตลาด หรือปัญหาด้านราคาตามมา ซึ่งต้นลำไยจะมีผลผลิตออกมาปีละครั้งและในพื้นที่จันทบุรีจะมีการปลูกหลักอยู่ในสองอำเภอ

“ชรัตน์” กล่าวว่า ได้เข้ามาบริหารโดยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การดูแลและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนการยืดอายุของลำไยในการส่งออกสู่ลูกค้าในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการดูแลบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต

ขณะเดียวกัน ได้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่และทายาทของธุรกิจในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และร่วมมือผลักดันการสร้างตลาด ไปจนถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการส่งเสริมเทคโนโลยีและตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายทางธุรกิจในปัจจุบัน ถือว่ามีความสำคัญกับผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันอย่างมาก

“ผมได้เรียนจบปริญญาโทด้านการเงิน และเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัว ได้เห็นปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่แน่นอน จึงอยากเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ โดยการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะมีโอกาสและมีศักยภาพอย่างมากในการทำตลาด รวมถึงช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าเกษตรไทย” ชรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ได้เข้าร่วมโครงการ ThaiGAP ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการร่วมส่งเสริมสร้างมาตรฐานและคุณภาพในการผลิตสินค้าเกษตรแก่ลูกค้า รวมถึงการเพิ่มผลผลิตออกมาสู่ตลาด

สำหรับภาพรวมราคาลำไยในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดน้อย แต่ราคาจะไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ ของประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีราคาประมาณ 35-45 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาผลไม้อื่นๆ เช่น มังคุด และทุเรียน มีแนวโน้มราคาสูง

“ชรัตน์” กล่าวทิ้งท้ายว่า พร้อมที่จะผลักดัน “ลำไย” ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสู่ลูกค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเพิ่มคุณภาพของผลผลิตอย่างไม่หยุดนิ่ง เชื่อมั่นว่าตลาดส่งออกมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง