posttoday

พลิกวิกฤตมะม่วงล้นตลาด แปรรูปอบแห้งสร้างมูลค่าเพิ่ม

26 พฤษภาคม 2561

หลังจบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาขาคหกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราฐิติมา มาใหญ่

โดย สิทธิพจน์ เกบุ้ย

หลังจบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาขาคหกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราฐิติมา มาใหญ่ หรือก้อย อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 78/1 หมู่ 1 ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ไปสมัครทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครได้เพียง 6 เดือน ก็หันหลังให้กับการเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วมุ่งหน้ากลับบ้านเกิดมาช่วยพ่อแม่สืบทอดอาชีพเกษตรกรรม โดยนำความรู้จากการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรทั้งขายพันธุ์มะม่วงมหาชนกและแปรรูปมะม่วง
มหาชนก เป็นมะม่วงอบแห้ง ภายใต้แบรนด์ “ก้อย” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด

พลิกวิกฤตมะม่วงล้นตลาด แปรรูปอบแห้งสร้างมูลค่าเพิ่ม

ฐิติมา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มะม่วงมหาชนกราคาเหลือแค่กิโลกรัมละ 6 บาท เนื่องจากผลผลิตออกพร้อมกันจนล้นตลาด ขณะที่มะม่วงแก่สุกคาต้นที่ผิวมีตำหนิ ไม่สวย ถ้านำไปขายก็จะได้แค่กิโลกรัมละ 1-2 บาท ทำให้ไม่คุ้มทุน ดังนั้นจึงหาแนวคิดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดจึงตัดสินใจนำมะม่วงที่แก่สุกคาต้นและมีตำหนิดังกล่าว มาปอกเปลือกและฝานเป็นชิ้นนำไปทำเป็นมะม่วงอบแห้ง ใช้เวลาอบในตู้อบ 15 ชั่วโมง โดยมะม่วง 10 กิโลกรัม สามารถทำเป็นมะม่วงอบแห้งได้ 1.5 กิโลกรัม แต่สามารถขายในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท

นอกจากนี้ หากนำมะม่วงอบแห้งนำไปบรรจุใส่ซองที่มีรูปแบบสวยงามปริมาณ 50 กรัม ขายถุงละ 35 บาท ส่วนการบรรจุกระป๋องสุญญากาศปริมาณ 200 กรัม ขายกระป๋องละ 95 บาท เป็นของกินของฝากที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสั่งซื้ออยู่เป็นประจำ แต่วันหนึ่งๆ สามารถผลิตได้แค่ 50-100 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนแรงงานรวมถึงค่าแรงงานก็มีราคาสูงจึงทำเป็นอุตสาหกรรมครอบครัวในหมู่ญาติพี่น้อง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตราคาผลผลิตมะม่วงมหาชนกที่ตกต่ำ เปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเติมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใส่เข้าไป ก็ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

พลิกวิกฤตมะม่วงล้นตลาด แปรรูปอบแห้งสร้างมูลค่าเพิ่ม

“มะม่วงมหาชนกราคาตกต่ำ เนื่องจากผลิตออกมาพร้อมกันจนล้นตลาด อีกทั้งมีผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ก็ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานผลไม้อื่นๆ จนเป็นเหตุให้มะม่วงมหาชนกราคาตกเหลือแค่กิโลกรัมละ 6 บาท ทำให้เกษตรกรต่างขาดทุนกันทั่วหน้า แต่หากนำไปแปรรูปต่างๆ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้และยังสามารถเก็บผลผลิตได้นานอีกด้วย ส่วนการทำตลาดนั้นสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือออกบูธต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ” ฐิติมา กล่าว

ปัจจุบันในพื้นที่ อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกต่างประเทศจำนวน 2 หมื่นไร่ ประกอบด้วย มะปราง มะยงชิด มะม่วงนานาชนิด ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกและขายภายในประเทศ ขณะที่ในเขตพื้นที่ ต.วังทับไทร มีกลุ่มเกษตรกรปลูกมะม่วงมหาชนก บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาสภาวะขาดทุน การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางตลาดเป็นอีกทางออกของเกษตรกรเมืองพิจิตร