posttoday

จากจีนถึงไทย แบนบิตคอยน์แล้วไงต่อ?

02 มีนาคม 2561

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งประเทศที่มีการยอมรับใช้ฟินเทคมากที่สุด รวมไปถึงเรื่องของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัล

โดย...ชลากร วรรณโภคิน

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งประเทศที่มีการยอมรับใช้ฟินเทคมากที่สุด รวมไปถึงเรื่องของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัล โดยก่อนหน้านี้ทั้งนักเทรดและนักขุดเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ก็มาจากแดนมังกรนี่เอง

แต่ทางการจีนกลับตัดสินใจที่จะแบนเจ้าสกุลเงินนี้ซะ ด้วยการสั่งปิดเว็บเทรดทั้งประเทศเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว และประกาศแบนการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) ในเวลาต่อมา ทว่าหลังจากที่ประกาศแบนไป ก็ยังไม่สามารถควบคุมความต้องการมีส่วนร่วมในสกุลเงินดิจิทัลของคนในประเทศได้ เว็บไซต์เทรดกลับย้ายไปดำเนินการในญี่ปุ่นและฮ่องกงแทน ขณะที่ยังให้บริการกับนักลงทุนชาวจีน รวมถึงนักเทรดก็ใช้ VPN เพื่อทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์นอกประเทศ

ทำให้เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออกมาประกาศแบนเว็บไซต์ต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลและ ICO ทั้งหมด เพื่อปราบปรามให้การลักลอบลงทุนหมดไปอย่างสิ้นซาก โดยแสดงความกังวลในเรื่องการฉ้อโกงจาก ICO เป็นหลัก ในขณะเดียวกันธนาคารกลางของจีนก็ได้ออกคำสั่งให้ธนาคารในประเทศ งดให้บริการสินเชื่อกับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลอีกด้วย

แต่ระหว่างนี้ทางการจีนทำอะไร? แบนเสร็จแล้วยังไงต่อ? ธนาคารแห่งประเทศจีนได้ทำการจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านสกุลเงินดิจิทัลขึ้น เพื่อทำการศึกษาด้านบล็อกเชนและฟินเทคโดยตรง รวมไปถึงเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา Bank of China ยังได้มีการจดสิทธิบัตรในเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์ โดยจะมาแก้ปัญหาการ Scaling ให้บล็อกเชนสามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง

จะเห็นว่าจีนเล็งเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และได้ทำการศึกษาบล็อกเชนอย่างจริงจัง แม้จะมีความกังวลเรื่องการใช้งานในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลก็ตาม

ส่วนในประเทศไทยของเราที่ดูแล้วจะมีการดำเนินการในรูปแบบคล้ายๆ กัน โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนมาขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนธุรกรรมที่เกี่ยวของกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งก็ได้ออกมาเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ ICO จากบริษัทมหาชนแห่งแรกของประเทศอย่าง JFIN จะเปิดขายในรอบ pre-sale

ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แต่หนังสือขอความร่วมมือ ดังกล่าวก็ดูจะได้รับการขานรับจากสถาบันการเงินอยู่พอสมควร จนมีข่าวธนาคารบางแห่งยกเลิกให้บริการเว็บไซต์บางเว็บไซต์ไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องที่น่าจับตามองก็คือ หลังจากนี้ภาครัฐและองค์กรต่างๆ จะมี แนวโน้มการพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไร จะมีโมเดลแบบจีนเป็นตัวอย่างไปในทางเดียวกันหรือไม่ หรือว่ายังไงขอห้ามไว้ก่อน แล้วจะกลับมาคิดต่อไปอีกที