posttoday

ริสต์แบนด์ MEiD ผู้ช่วยชีวิตคน

23 กุมภาพันธ์ 2561

ข้อมูลของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ ข้อมูลส่วนบุคคลทางการแพทย์ เพื่อทำให้กลุ่มคนที่กำลังประสบภัย หรือมีความเสี่ยง ได้รับความสะดวกและมีการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที กับ "MEiD" ที่ได้สร้างสินค้าและบริการไว้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

ข้อมูลของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ ข้อมูลส่วนบุคคลทางการแพทย์ เพื่อทำให้กลุ่มคนที่กำลังประสบภัย หรือมีความเสี่ยง ได้รับความสะดวกและมีการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที กับ "MEiD" ที่ได้สร้างสินค้าและบริการไว้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

"ปีติพงศ์ เหลืองเวชการ" ผู้ร่วมก่อตั้ง MEiD เปิดเผยว่า MEiD ได้สร้างสินค้าและบริการที่ได้ออกแบบเพื่อให้ ผู้สวมใส่ริสต์แบนด์ หรือติดสติ๊กเกอร์ข้อมูลทางการแพทย์ จึงสามารถจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลทางการแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อใช้ในเหตุฉุกเฉิน หรือใช้สื่อสารทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้งานได้รับความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

ลูกค้าเป้าหมาย กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วยกะทันหัน หรืออุบัติเหตุต่างๆ กลุ่มผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์ กลุ่มเด็กในช่วงอายุ 3-12 ปี ที่อาจจะมีการสื่อสารไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงถูกพลัดหลงได้ กลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มสุดท้าย จะเป็นผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยสินค้าได้นำเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการ และรุ่นล่าสุดจะเป็นเวอร์ชั่น 3 แล้ว

ความสำคัญของ MEiD ที่จะเป็นสินค้าสำคัญไม่เฉพาะตลาดในประเทศไทย แต่รวมถึงตลาดในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน ที่ความต้องการใช้บริการจะมีระดับสูง โดยจากข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน มีปัญหาในด้านอุบัติเหตุในทุกด้าน หรือคนหลงทางไม่ต่ำกว่า 100 ล้านครั้ง/ปี และประมาณ 60% ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ดังนั้น หากมีวิธีการที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนแปลงและทำให้การรักษาเกิดความรวดเร็วมากที่สุด พร้อมกับช่วยลดความสูญเสียในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

"ปีติพงศ์" กล่าวต่อว่า การออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้ผู้สวมใส่ริสต์แบนด์หรือติดสติ๊กเกอร์บนสิ่งของต่างๆ จึงสามารถมีข้อมูลที่สำคัญพกติดตัวได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ผู้ใช้งานจะสามารถบันทึกและปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ตามที่ต้องการ ตลอดจนการถ่ายรูปเอกสารทางการแพทย์ไว้ได้ด้วย ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลจะอยู่บน คลาวด์ ที่มีความปลอดภัยและจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมหาศาล

"การมีริสต์แบนด์ที่พกข้อมูลติดต่อตลอดเวลา และผู้ใช้งานก็เข้าถึงได้สะดวก ข้อมูลมีความปลอดภัย จึงเปรียบเสมือนการซื้อห้องเก็บข้อมูลได้ 1 ห้อง และเพิ่มข้อมูลที่ต้องการได้เรื่อยๆ ในห้องดังกล่าว" ปีติพงศ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ทีมได้มีการพัฒนาและเพิ่มบริการใหม่ๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย พร้อมกับกำหนดราคาสินค้าที่มีความคุ้มค่า โดยราคาของริสต์แบนด์จะเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาท และรุ่นล่าสุดในราคา 1,200 บาท ที่จะมีรูปแบบคล้ายกับ สมาร์ท วอตช์ แต่มีราคาที่ต่ำกว่า อีกทั้งสามารถให้ข้อมูลที่พิเศษ ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการก้าวเดิน และข้อมูลแคลอรี เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กำลังร่วมทำโค-แบรนดิ้ง กับแบรนด์ทั้ง Garmin, Fitbit และ Apple Watch เป็นต้น เพื่อเสริมบริการให้แก่ลูกค้า รวมถึงสนใจจะขยายตลาดและกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ไปยังลูกค้าที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น แมว ในการจัดเก็บข้อมูลของสัตว์เลี้ยงประจำตัวไว้ด้วย โดยจะให้อยู่ในรูปแบบของปลอกคอ และมีการติดรหัสไว้ ส่วนช่องทางทำตลาดในปัจจจุบัน ผ่านทั้ง เฟซบุ๊ก  MEiD Thailand และเว็บไซต์ www.meidlife.com

"ปีติพงศ์" กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็น เฮลท์เทค (Health Tech) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งสามคน ทั้งตนเอง และหมออีกสองคน ที่เป็นน้องชาย "นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ" และน้องสะใภ้ "พญ.วีรพร ศรีสังข์" ที่นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในระบบสาธารณสุข หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ และเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ทั้งคนในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการลงทุนพัฒนาในด้านต่างๆ ในหลักเกินล้านบาทไปแล้ว

"ผมทำธุรกิจด้านอื่นไปควบคู่กัน ทั้งร้านอาหารและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่การทำสตาร์ทอัพ มันคือความฝันของเรา การเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนออกมาสู่ตลาด ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีครึ่ง ทั้งการพัฒนาบริการและการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกัน" ปีติพงศ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เฮลท์เทคถือเป็น สตาร์ทอัพที่มีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพกลุ่มอื่นๆ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาและสร้างตลาด สร้างการรับรู้ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักและมีความเข้าใจ โดยเชื่อว่า ในระยะยาวเมื่อผู้บริโภครู้จักและเข้าใจผลิตภัณฑ์ ประกอบกับความสนใจดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันทำให้องค์กรมีแนวโน้มเติบโตได้สูง

"สตาร์ทอัพก็เปรียบเสมือนการทำธุรกิจแบบหนึ่ง ที่จะต้องมีช่วงของธุรกิจ ทั้งมีช่วงหนืด ไม่มีเงิน ไม่มีลูกค้า และไม่มีคนเข้าใจ เราต้องเตรียมใจตรงนี้ ต้องเตรียมพร้อมที่จะเจอทั้งนรกและสวรรค์ แต่ก่อนที่จะเจอสวรรค์ เราอาจจะต้องเจอนรกอีกไม่รู้กี่ขุม" ปีติพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการบริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จึงได้รับทุนสนับสนุน จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์  (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท เอ๊กซ์ปาร่า ผู้เชี่ยวชาญในการบ่มเพาะและการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการ "Thailand Startup for life Sciences" เพื่อร่วมหา ผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์ และ ส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อผลักดันธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตสู่ตลาดโลก

พร้อมกันนี้ ยังมีนักลงทุนที่เริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในบริษัทแล้ว และพร้อมเปิดรับพันธมิตรนักลงทุน ในการเข้าร่วมส่งเสริมบริษัท โดยปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการต่างๆ อีกจำนวนมากเพื่อการเสริมบริการพิเศษ เช่น การให้บริการ เทเลเมดิซีน หรือบริการปรึกษาหมอผ่านออนไลน์ เป็นต้น

"ปีติพงศ์" กล่าวต่อว่า มีความสนใจจะขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยมีหลายตลาดที่มีความน่าสนใจและมีความต้องการใช้บริการจากลูกค้าในแต่ละประเทศ โดยระยะยาวได้ตั้งเป้าหมายว่า จะผลักดันองค์กรให้เป็นผู้นำการทำตลาดและให้ข้อมูล พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบเหตุต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

"สิ่งที่ทีมมุ่งมั่นมาตลอดในการบริหารงาน คือ การผลักดันทำให้สำเร็จเพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ ร่วมยกระดับสาธารณสุขของประเทศ ที่จะช่วยชีวิตคนได้อย่างมหาศาล และการสร้างองค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน"  ปีติพงศ์ กล่าวปิดท้าย