posttoday

แปลงโฉมสมุนไพรไทย สู่โปรดักต์แชมเปี้ยน

22 กุมภาพันธ์ 2561

สมุนไพรไทยหลัก 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล ที่ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความหลากหลาย และมีมูลค่าสูง

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

สมุนไพรไทยหลัก 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล ที่ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความหลากหลาย และมีมูลค่าสูง

“สุวิมล สุรัสโม” นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ทีมวิจัยของนาโนเทคได้ร่วมพัฒนางานวิจัยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหลัก 4 ชนิด ทั้งบัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล นำมาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและตรงกับความต้องการในตลาด

การใช้นวัตกรรมของนาโนเทคที่จะนำมาใช้กับสมุนไพร โดยเป็นการพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการกักเก็บสารสำคัญทางเภสัชภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บ (Encapsulation technique) เพื่อทำให้สารออกฤทธิ์สำคัญถูกจัดเก็บในรูปแบบเอนแคปซูเลชั่น ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ จะมีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น น้ำมันหอมระเหยเพื่อไล่ยุง ทำให้สามารถใช้งานและมีสารออกฤทธิ์ได้ยาวนาน 5 ชั่วโมง แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปจะมีสารออกฤทธิ์ประมาณ 2 ชั่วโมง

แปลงโฉมสมุนไพรไทย สู่โปรดักต์แชมเปี้ยน

บัวบกนำมาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิว มือ ส่งผลต่อการใช้งานและการซึมซาบสู่ผิวได้ดีมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ รวมถึงนำไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวได้ ขณะที่กระชายดำสามารถนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สเปย์ดับกลิ่นเท้า

ไพลและขมิ้นชัน โดยอนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันหอมระเหยไพลและขมิ้นชัน จึงมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบของกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ผิวหนัง อีกทั้งจาก อนุภาคระดับนาโน จึงช่วยลดความเข้มของสีและกลิ่นของสารออกฤทธิ์ ซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ดขณะเดียวกัน ยังมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากสมุนไพรไทย เช่น กวาวเครือ มีคุณสมบัติกระชับผิว เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ส่วนมังคุดนำไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์การดูแลความสะอาดในช่องปาก เป็นต้น มีหลายผลิตภัณฑ์ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอกชนนำไปผลิตสู่เชิงพาณิชย์แล้ว

“สุวิมล” กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยของนาโนเทค พร้อมให้คำแนะนำและการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการทำวิจัย และการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายตลาด ของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยสู่ตลาดในประเทศและตลาดโลก

ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐต้องการยกระดับและเพิ่มมูลค่า เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นให้ได้ถึงระดับ 5,000 ล้านบาท ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า จึงส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย

นาโนเทคเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ร่วมในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference : NAC2018) มีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 9-13 มี.ค. 2561 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

แปลงโฉมสมุนไพรไทย สู่โปรดักต์แชมเปี้ยน