posttoday

‘ไวส์เซ่’ Deep Technology

16 กุมภาพันธ์ 2561

สตาร์ทอัพที่ประเทศไทยกำลังต้องการอย่างมากคือ “Deep Technology” ที่เป็นการคิดค้นสร้างเทคโนโลยี โดยจากพลังคนรุ่นใหม่

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

สตาร์ทอัพที่ประเทศไทยกำลังต้องการอย่างมากคือ “Deep Technology” ที่เป็นการคิดค้นสร้างเทคโนโลยี โดยจากพลังคนรุ่นใหม่ “ธนอรรถ ศิรชัยทัศ” ได้พัฒนานาโนแคลเซียมคาร์บอเนตผลึกหกเหลี่ยม ที่แรกและที่เดียวในโลก ซึ่งเป็นดีพเทคโนโลยี จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (สกินแคร์) โดย “ธนอรรถ” ได้ต่อยอดงานวิจัยสู่ ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดไวส์เซ่

“ธนอรรถ ศิรชัยทัศ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดีเอส เพรสทิจเจียส เดอร์มาโทโลจิ นักวิจัยและนักประดิษฐ์ รวมถึงผู้ก่อตั้งแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ไวส์เซ่ (Weisse) เปิดเผยว่า ความเป็นมาในการสร้างแบรนด์ เริ่มตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมโลหการ ได้ทำงานด้านการวิจัยวัสดุนาโนเทคโนโลยี จึงสนใจศึกษา นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต และสังเคราะห์สาร นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตผลึกหกเหลี่ยม ได้เป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งเวลาการศึกษาวิจัยต่อเนื่องในช่วงเรียนระดับปริญญาโทคณะเดียวกัน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี

นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตสามารถนำมาพัฒนาและสร้างวัสดุพิเศษขั้นสูง และทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม จึงได้ต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มดูแลผิว ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกคือ ครีมกันแดด แบรนด์ ไวส์เซ่ โดยตนเองได้ร่วมวิจัยและอยู่ในฐานะนักประดิษฐ์ (Inventor) ที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีผลิตนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตมาพัฒนาต่อยอดสู่ครีมกันแดด

“แรงบันดาลใจสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เกิดขึ้นมาจากคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องผิว และมีปัญหาการใช้ครีม รวมถึงปัญหาเรื่องแดดในประเทศไทย จึงสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว พร้อมศึกษาและต่อยอดจากความรู้ที่เรียนสู่ครีมกันแดดนาโนผลึกหกเหลี่ยม โดยระยะแรกได้ทดลองใช้เอง และแนะนำต่อไปยัง กลุ่มเพื่อน ลูกศิษย์ที่สอนพิเศษให้” ธนอรรถ กล่าว

‘ไวส์เซ่’ Deep Technology

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบรนด์ ไวส์เซ่ ที่เป็นสินค้าแรกของบริษัท โดยเป็นครีมกันแดดนาโนผลึกหกเหลี่ยม ที่มีคุณสมบัติทั้งไม่เหนียว กันน้ำและกันเหงื่อ รวมถึงสามารถล้างออกง่ายด้วยเจลหรือโฟมล้างหน้า อีกทั้งไม่ทำให้ผิวหน้าอุดตัน และลดความมันให้ผิวหน้า ถือว่าแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดทั่วไป ที่จะเป็นอนุภาคทรงกลม แต่ “ไวส์เซ่” เป็นอนุภาคผลึกหกเหลี่ยม จึงช่วยดูแลและปกป้องผิว ทั้งนี้ การพัฒนาผลงานวิจัยและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใช้ระยะเวลารวมประมาณ 7 ปี

พร้อมกันนี้ ได้แนะนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่โรงพยาบาลเอกชนและกลุ่มคุณหมอ รวมถึงทำตลาดผ่านเว็บไซต์ http://weisseskincare.com และทำตลาดผ่านช่องทางร้านขายยา โดยเมื่อประเมินสถานการณ์ในเรื่องโลกร้อน ถือว่ามีปัญหาโลกร้อนในทุกปี และมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2560 โลกมีสภาพอากาศที่ร้อนสุดในรอบ 100 ปี และพบว่า ในโลกมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาเรื่องมะเร็งผิวหนังในทุกวัน ดังนั้น ปัญหาเรื่องโลกร้อนและการดูแลผิวมีความสำคัญต่อทุกคน

จากความโดดเด่นทั้งงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ ทำให้แบรนด์ครีมกันแดดไวส์เซ่ได้รับรางวัลนวัตกรรมในประเทศและระดับโลกหลายด้าน พร้อมกับได้รับการส่งเสริมทั้งจาก โครงการทุนนิวตันฟันด์ และโครงการสตาร์ทอัพ เวาเชอร์ (Start up Voucher) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อีกทั้งคณะที่เรียนและอาจารย์ที่สนับสนุนในด้านต่างๆ

“ธนอรรถ” กล่าวต่อว่า การคิดค้นนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตผลึกหกเหลี่ยม ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการทำวิจัย และเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่ม ดีพ เทคโนโลยี (Deep Technology) ซึ่งมีหลายขั้นตอนในการศึกษา การทดลอง ทดสอบผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง อีกทั้งต้องมีการลงทุนในการทำวิจัยจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค

แต่ทั้งนี้ แรงผลักดันที่ทำให้ขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง มาจากสิ่งที่เรารักและมีความชอบ จึงมุ่งมั่นในการพัฒนา และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำ รวมถึงไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ส่งผลให้สามารถผลักดันและการทำวิจัยให้สำเร็จ ขณะเดียวกัน การทำ ดีพ เทคโนโลยี จะเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่มที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนายาวนานกว่าสตาร์ทอัพกลุ่มอื่น ดังนั้น การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จึงอยากให้มีอย่างต่อเนื่อง

“การเริ่มต้นสร้างสรรค์ในเรื่องใดก็ตาม ควรที่จะเริ่มในสิ่งที่ถนัด และต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ พัฒนา อย่างต่อเนื่อง ต้องพัฒนาตัวเองและมีความคิดสร้างสรรค์ มีความพยายามอย่างไม่สิ้นสุด ผมเชื่อว่า ถ้าเรามีความพยายามและมีความตั้งใจจริงก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในทุกเรื่อง” ธนอรรถ กล่าว

ธนอรรถ กล่าวต่อว่า กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัสดุใหม่ในโลก รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการแพทย์ รวมถึงการนำไปใช้ในการช่วยบำบัดน้ำเสีย ต่อเนื่องไปจนถึงใช้ในระบบเซ็นเซอร์ ตรวจสอบความเป็นพิษของแก๊สหรืออาหารได้ ซึ่งการมุ่งพัฒนาดังกล่าว มีเป้าหมายต้องการทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนในประเทศมากที่สุด และพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า งานวิจัยไทย สามารถนำมาใช้ได้จริงและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล

ขณะเดียวกัน แบรนด์อยู่ระหว่างการสร้างทีมงานเพื่อมุ่งทำตลาดและการสร้างแบรนด์สู่กลุ่มลูกค้า พร้อมกับการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มบำรุงผิวออกมาสู่ตลาด ควบคู่ไปกับการทำงานวิจัย โดยปัจจุบันตนเองก็ได้ศึกษาต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ จุฬาฯ เพื่อนำเสนอวัสดุใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและประเทศ

เป็นหนึ่งพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากนวัตกรรมไทย ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นกัน

‘ไวส์เซ่’ Deep Technology