posttoday

SME ไทย เห็นอย่างไรกับ EEC

08 กุมภาพันธ์ 2561

สวัสดีครับท่านผู้ประกอบการ เราเพิ่งจะผ่านไตรมาสสุดท้ายของปลายปีที่แล้วมา ซึ่งถือเป็นเวลาทองของหลายธุรกิจ

โดย...สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สวัสดีครับท่านผู้ประกอบการ เราเพิ่งจะผ่านไตรมาสสุดท้ายของปลายปีที่แล้วมา ซึ่งถือเป็นเวลาทองของหลายธุรกิจ เพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคใช้เงินจับจ่ายสินค้าทุกประเภทมากที่สุด ถึงตอนนี้ เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปีใหม่แล้ว ธุรกิจของท่านยังคึกคักอยู่ไหมครับ

ผมเองได้คุยกับนักธุรกิจและลูกค้าหลายๆ ท่าน ต่างมองว่าไตรมาสแรกของปีนี้ธุรกิจยังมีแนวโน้มไปได้ดีอยู่ครับ ซึ่งตรงกับข้อมูล รายงานดัชนีภาวะธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 4 ของปี 2560 ที่จัดทำโดยกรุงศรี (Krungsri SME Index Q4/2017) ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกกลุ่มและทุกขนาดมองว่าเศรษฐกิจใน 3 เดือนแรกของปี 2561 มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและธุรกิจในต่างจังหวัด

ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับมุมมองของวิจัยกรุงศรีที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรก มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและปริมาณการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ขยายตัว การส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน ยานยนต์ และเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมถึงปริมาณการใช้จ่ายจากภาครัฐซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งจากรายงาน Krungsri SME Index ที่ผมต้องพูดถึงคือเรื่อง EEC (Eastern Economic Corridor) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐ เพื่อพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเริ่มที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา Krungsri SME Index ได้สำรวจถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการอีอีซีหรือไม่ โดยพบว่า 21% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าอีอีซีอาจจะไม่ให้ประโยชน์เพิ่มเติมกับธุรกิจ เพราะธุรกิจไม่ได้อยู่ในพื้นที่อีอีซี หรือธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุน ในทางตรงกันข้าม กลุ่มเอสเอ็มอีที่คิดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการ อีอีซี มองว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวและมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ธุรกิจขยายตัว และมีโอกาสทางธุรกิจทางอ้อม ซึ่งเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ได้

เตรียมความพร้อมโดยเริ่มจากให้ทีมงานเริ่มศึกษาและเตรียมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซีแล้ว อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากยังไม่รู้จักอีอีซี หากรัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพิ่มกับกลุ่มผู้ประกอบการ ผมว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะมีหลายหน่วยงานที่ออกสิทธิประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีแล้ว เช่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าไปมีส่วนเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครบทั้ง 10 กลุ่ม รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านบีโอไอก็มีมาตรการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยให้ได้รับวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นเพิ่มอีกร้อยละ 100 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561-30 ธ.ค. 2563 ครับ การลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์อย่างอีอีซีไม่ได้เอื้อประโยชน์แค่บริษัทรายใหญ่เท่านั้น

หากผู้ประกอบการมองหาโอกาสและปรับตัว ปรับธุรกิจ ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปอยู่ห่วงโซ่อุปทาน เสนอผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้กับบริษัทรายใหญ่ หรือโรงงานในเขตอีอีซี หรืออาจร่วมมือกับสถาบันวิจัยใน EECi ทำ R&D เพื่อพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของตนได้