posttoday

‘PharmaSafe’ ผู้ช่วยใช้ยาอย่างปลอดภัย

02 กุมภาพันธ์ 2561

“PharmaSafe” แอพพลิเคชั่นที่จะเข้ามาช่วยชีวิตคน กับระบบการช่วยแจ้งเตือนการรับประทานยา ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และการเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยา

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

“PharmaSafe” แอพพลิเคชั่นที่จะเข้ามาช่วยชีวิตคนบนโลกใบนี้ กับระบบการช่วยแจ้งเตือนการรับประทานยา ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และการเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดปัญหาการทานยาผิดพลาด หรือไม่ตรงเวลา ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลกเลยทีเดียว

“จักร โกศัลยวัตร” ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นและซีอีโอ “PharmaSafe” เปิดเผยว่า PharmaSafe คือ ชุมชนการใช้ยาอย่างปลอดภัย โดยเป็นระบบที่เชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาล เพื่อแจ้งเตือนทำให้ผู้ป่วย สามารถรับประทานยาได้ถูกต้องตามเวลา และแสดงโชว์ให้เห็นรูปของยา ซึ่งจะแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่เกิดปัญหาผู้ป่วยรับประทานไม่ตรงเวลา หรือทานยาผิดพลาดเกิดขึ้น รวมถึงการเก็บข้อมูลเอกสารกับยา ข้อมูลประวัติการแพ้ยาและยาที่มีผลข้างเคียง ตลอดจนการตรวจสอบยาที่ได้รับว่าถูกต้องหรือไม่ แสดงยอดยาคงเหลือปัจจุบัน และเก็บประวัติการใช้ยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หลักการทำงาน เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลแล้ว ระบบจะมีการส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติจากโรงพยาบาลมาถึงผู้ป่วย ซึ่งลูกค้าที่สามารถเข้ามาใช้ระบบได้จะต้องเป็นลูกค้าที่ใช้บริการกับโรงพยาบาลที่มีการร่วมมือกับ “PharmaSafe” ถือว่าเป็นระบบที่ยังไม่มีมาก่อนในประเทศไทย และได้มีการทดลองกับโรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

ส่วนลูกค้าทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้งานได้ฟรี เพื่อเก็บข้อมูลการใช้ยาและถ่ายรูปยาของตัวเองไว้ เพื่อตั้งเวลาและจะมีแจ้งเตือนผ่านระบบได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลระบบและการให้บริการต่างๆ ผ่าน www.pharmasafe.mobi ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าที่ใช้บริการบางคนอายุสูงสุด 83 ปี ก็ใช้งานระบบได้อย่างดี

“จักร” กล่าวต่อว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีความสำคัญต่อทั้งประเทศไทยและในต่างประเทศ เพราะจากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐพบว่างบของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นงบด้านยา ซึ่งแต่ละปี จะมีการใช้ยาผิดคิดเป็นสัดส่วน 40% หรือเป็นวงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท/ปี จากการใช้ยาผิดประเภทจากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอีกสาเหตุทำให้ประเทศไทยเกิดผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลและการงบประมาณไม่คุ้มค่า

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิ้ลยูทีโอ ได้ประกาศแคมเปญรณรงค์การใช้ยาผิดประเภทที่ต้องการให้ลดลงครึ่งหนึ่ง ภายใน 5 ปีข้างหน้า และในสหรัฐ มีข้อมูลพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทานยาผิดประเภทวันละ 1 คน ดังนั้น เรื่องยา จึงไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ หรือระดับโลก

“ปัญหาของผู้ป่วยคือ เมื่อได้ยากลับมาที่บ้านแล้ว และต้องดูแลตัวเอง ทานยาเองจึงเกิดปัญหา การทานยาผิดเวลา หรือทานยาผิดประเภท จึงเกิดปัญหาตามมาได้” จักร กล่าว

‘PharmaSafe’ ผู้ช่วยใช้ยาอย่างปลอดภัย จักร โกศัลยวัตร

กลุ่มลูกค้าจะเน้นขยายความร่วมมือกับกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีโรงพยาบาลในสังกัดรวม 30 แห่ง และเป็นโรงพยาบาลที่มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก รวมถึงช่วยตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลและผู้ป่วย รวมถึงลูกค้าผู้สูงอายุ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ส่วนในประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือเอจจิ้ง โซไซตี้ จึงสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้แก่คน คาดว่าในอนาคตจะติดตั้งระบบกับโรงพยาบาลได้

แผนระยะต่อไป สนใจขยายธุรกิจและการพร้อมเปิดรับนักลงทุนเข้ามาลงทุนในบริษัท คาดว่า ภายในปีนี้จะเปิดระดมทุนในรอบแรก โดย PharmaSafe ถือเป็นสตาร์ทอัพ เฮลท์เทค (Health Tech) ที่เป็นสตาร์ทอัพมีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพกลุ่มอื่น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ต้องดูแลและรับผิดชอบชีวิตของคน

สำหรับการก้าวเข้ามาทำสตาร์ทอัพ PharmaSafe ในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจที่ต้องการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อคนในสังคม รวมถึงยังมาจากคุณพ่อที่ประสบปัญหาเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ส่งผลทำให้พูดไม่ได้ โดยเมื่อไปพบคุณหมอก็ถามว่า คุณพ่อทานยาและแพ้ยาอะไรบ้าง ข้อมูลของยาและทานยาสำคัญ ทำให้สนใจที่จะสร้างระบบขึ้นมาช่วยและแก้ปัญหา สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในโรงพยาบาลมาเชื่อมต่อกับผู้ป่วยได้รับความสะดวก หรือคนในครอบครัวจะได้ทราบข้อมูลทันท่วงที

“ผมได้สร้างก่อตั้งแบรนด์เครื่องหนังแนวดีไซน์มาหลายปีจนถึงจุดอิ่มตัว จึงอยากสร้างสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนในโลกมากที่สุด ทำให้ได้คำตอบในการสร้างสตาร์ทอัพเฮลท์เทค” จักร กล่าว

จักร กล่าวว่า สตาร์ทอัพ เฮลท์เทค มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพคน คนที่ทำต้องมีความพร้อมและมีความเข้าใจปัญหาคน มีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย มีกฎระเบียบ ทุกอย่างต้องใช้เวลาพิสูจน์ รวมถึงผู้ที่ทำต้องมีความอดทน มีเป้าหมายทำเพื่อส่วนร่วม ทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืนเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ  โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพ เฮลท์เทค ในประเทศ 42 บริษัท และอยู่ระหว่างจัดตั้งเป็น Thai Health Tech Association ซึ่งตนเองถูกเสนอชื่อจากทุกคนให้เป็นนายกสมาคมคนแรกและจะประกาศในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ PharmaSafe ได้วางแผนว่า ภายในปี 2561 จะมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการรวมประมาณ 2 แสนราย และภายในเวลา 1-2 ปี จะเป็นผู้นำระบบส่งข้อมูลดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย และจะเป็นแอพพลิเคชั่นแนะนำการใช้ยาที่ดีสุดของประเทศ รวมถึงระยะยาวจะผลักดันการขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนได้

ถือเป็นสตาร์ทอัพไทย พร้อมเข้าไปร่วมแก้ปัญหาให้แก่ระบบ สาธารณสุขไทย ที่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัญหาระดับประเทศ  โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้วิถีชีวิตของทุกคนดียิ่งขึ้น และจะนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

‘PharmaSafe’ ผู้ช่วยใช้ยาอย่างปลอดภัย