posttoday

'ไทยยานยนต์ไฟฟ้า' เปิดเกม

31 มกราคม 2561

บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย เตรียมนำ “รถบัสไฟฟ้าชนิดโมโนคอค” เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการ

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย เตรียมนำ “รถบัสไฟฟ้าชนิดโมโนคอค” เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เติบโตและมีความเข้มแข็งมากขึ้น

“สมบูรณ์ พิทยรังสฤษฏ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ผู้บริหารบริษัทเอกชนจำนวน 34 บริษัท ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุน ได้รวมตัวจัดตั้งบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา โดยตนเองรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ไทยยานยนต์ไฟฟ้าได้สร้างต้นแบบรถบัสไฟฟ้าชนิดโมโนคอคออกมาสู่ตลาดอย่างเป็นทางการแล้วในปัจจุบัน

“การจัดตั้งบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า ในครั้งนี้ เนื่องจากภาคเอกชนเห็นว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผลต่อผู้ผลิตยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงส่งผลให้ภาคเอกชนไทยสนใจสร้างเทคโนโลยีขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ” สมบูรณ์ กล่าว

บริษัทได้จัดตั้งขึ้นมาพร้อมกับมุ่งวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการทำวิจัย พร้อมร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีนักวิจัยและบุคลากร มีฐานองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชน

“สมบูรณ์” กล่าวว่า บริษัทผลิตรถต้นแบบ รถบัสไฟฟ้าชนิดโมโนคอค มีขนาดความยาวประมาณ 10.5 เมตร โครงสร้างแบบ Monocoque ทำจากเหล็ก อะลูมิเนียม อัลลอย พลาสติก และกระจก รวมถึงมีน้ำหนักเบากว่ารถบัสทั่วไป สามารถวิ่งได้ในความเร็วสูงสุดที่ 80 กม./ชม. ซึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทาง 50 กม.ต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง และใช้เวลาประจุไฟฟ้า 20 นาที

'ไทยยานยนต์ไฟฟ้า' เปิดเกม

 

ขณะเดียวกัน การออกแบบให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็กเพื่อให้รถมีโครงสร้างเล็กและมีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับรถบัสทั่วไปมีความปลอดภัยในการขับขี่ พร้อมมีระบบเซ็นเซอร์ เตือนในกรณีที่ปริมาณกำลังไฟฟ้าเหลือน้อย เพื่อเปลี่ยนใช้โหมดประหยัดพลังงาน

สำหรับการพัฒนารถบัสไฟฟ้าต้นแบบครั้งนี้ ได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงวิทย์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสมาคมเครื่องจักรกลไทย เพื่อสนับสนุนเอกชนไทย อีกทั้งยังมีนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. มาร่วมสนับสนุนทำวิจัย

ขณะที่แผนการพัฒนารถบัสไฟฟ้า แบ่งการพัฒนาระยะแรก ได้การออกแบบโครงสร้างรถบัสไฟฟ้า โดยใช้การออกแบบ โดยใช้กระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย หรือการสร้างเครื่องจักรต้นแบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีน เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำผลิตรถยนต์เพื่อให้เหมาะกับประเทศไทย ต่อมาระยะสองได้ประกอบรถบัสที่ใช้งานได้อย่างแท้จริง

แผนการขยายตลาด ต้องการขยายไปยังกลุ่มลูกค้าในประเทศ ทั้งบริษัท ขนส่ง (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือรถร่วม โดยการออกแบบได้คำนึงให้เหมาะสมกับตลาดในประเทศไทย และออกแบบให้เก็บแบตเตอรี่ไว้ด้านบน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในประเทศ อีกทั้งมีราคาต่ำกว่ารถบัสนำเข้าจากต่างประเทศ และมีความคุ้มค่าในการใช้งาน

“สมบูรณ์” กล่าวต่อว่า แผนการพัฒนารถบัสไฟฟ้าระยะ 3 จะสร้างสู่รถยนต์สมาร์ทคาร์ ที่มีระบบควบคุมและติดตามการทำงาน พฤติกรรมของคนขับ พร้อมเชื่อมโยงการทำงานของศูนย์ดูแลรถได้ พร้อมกับจะสร้างรถบัสไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ในระยะทาง 300 กม. ซึ่งจะรองรับการใช้งานในระยะไกลมากขึ้น ทั้งการเดินทางไปในจังหวัดที่อยู่ภาคกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา หรือนครสวรรค์ และประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง เพื่อเดินทางต่อไปในระยะไกลขึ้นใน จ.เชียงใหม่ ได้ ซึ่งประเมินว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะรองรับการทำงานรถยนต์ไฟฟ้าได้

เบื้องต้นประเมินว่า บริษัทจะสามารถผลิตได้สูงสุดที่ 250 คัน/ปี โดยมั่นใจว่าการสร้างรถบัสไฟฟ้า จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย และมีความเหมาะสมกับตลาดในประเทศไทย

'ไทยยานยนต์ไฟฟ้า' เปิดเกม