posttoday

ฟาร์ม ‘แตะขอบฟ้า’ มะเขือเทศสู่ผลไม้รสหวาน

18 พฤศจิกายน 2560

“มะเขือเทศ” ผลไม้จากฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ “แตะขอบฟ้า” ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักด้านการเกษตร ทำให้สามารถสานต่อและพัฒนาการปลูกมะเขือเทศได้อย่างมาก

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

“มะเขือเทศ” ผลไม้จากฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ “แตะขอบฟ้า” ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักด้านการเกษตร ทำให้สามารถสานต่อและพัฒนาการปลูกมะเขือเทศได้อย่างมาก และทำให้มะเขือเทศ กลายเป็นผลไม้ที่ให้รสชาติหวานแบบพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของฟาร์ม

“ปิยะ กิจประสงค์” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของฟาร์ม ฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ “แตะขอบฟ้า” เปิดเผยว่า ฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ “แตะขอบฟ้า” อยู่ใน จ.สุพรรณบุรี โดยเปิดดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว และเป็นฟาร์มที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที ในการดูแลฟาร์ม พร้อมกับเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาการปลูกมะเขือเทศอย่างครบวงจร ซึ่งมะเขือเทศที่ปลูกจะเป็น มะเขือเทศเชอรี่

การบริหารจัดการฟาร์มในช่วงระยะเวลากว่า 4 ปี มีการขยายตัวของฟาร์มอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรือน 1 แห่ง และได้ขยายสู่การมี 5 โรงเรือนในปัจจุบัน โดยมะเขือเทศจะมีทั้งสีแดง และสีเหลือง อีกทั้งตนเองได้พัฒนาการปลูกทำให้ได้มะเขือเทศเชอรี่รสชาติที่หวาน แตกต่างจากมะเขือเทศแบบทั่วไป และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้มะเขือเทศกลายเป็นผลไม้ที่ทุกคนสามารถรับประทานได้

ขณะเดียวกันได้มีการดูแลและบริหารจัดการฟาร์ม การเพาะปลูกเองทั้งหมด ทำให้สามารถพัฒนาการปลูก และดูแลคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปลูกแบบปลอดสารพิษ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลไม้ที่มีความสดและมีคุณภาพ ซึ่งสินค้ามีช่องทางจำหน่ายหลัก ทั้งในฟาร์มที่อยู่ใน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี และจำหน่ายผ่านเครือข่ายใน จ.สุพรรณบุรี โดยมีความต้องการมะเขือเทศในระดับสูง

ฟาร์ม ‘แตะขอบฟ้า’ มะเขือเทศสู่ผลไม้รสหวาน

 

ทั้งนี้ การที่ตนเองเป็นคนรุ่นใหม่และได้เรียนจบมาจากคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สนใจในด้านการเกษตร และต้องการต่อยอดสินค้าเกษตรไทย รวมถึงทำให้สินค้าเกษตรไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงได้เข้ามาร่วมกับโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ช่วยผลักดันสร้างเครือข่ายเกษตรกร และร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการด้านต่างๆ

รวมถึงการเข้าร่วมโครงการของทั้งหน่วยงานภาครัฐ โดยได้นำระบบไอโอทีของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. มาใช้ในฟาร์ม และต่อเนื่องถึงระบบไอโอทีของดีแทค

“การทำเกษตรถือเป็นสิ่งที่ตนเองรัก ทุกอย่างในการทำจึงไม่เหมือนการทำงาน เปรียบเสมือนการทำงานอดิเรก และเมื่อได้ทำจึงเกิดการเรียนรู้ใหม่อย่างไม่จำกัด รวมถึงการมีฟาร์มที่มีขนาดไม่ใหญ่ จึงควบคุมและดูแลจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ปิยะ กล่าว

ราคาของมะเขือเทศได้กำหนดมะเขือเทศแดงกิโลกรัมละ 100 บาท มะเขือเทศเหลืองกิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนระยะต่อไป สนใจขยายฟาร์มไปสู่แหล่งท่องเที่ยวและการมุ่งพัฒนาเพื่อก้าวสู่สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm)

ปิยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า โอกาสของตลาดมะเขือเทศยังมีอีกมาก เพราะมะเขือเทศเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ และมีความต้องการจากผู้บริโภคที่สนใจดูแลสุขภาพมีมากขึ้น