posttoday

หนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่ง

11 พฤศจิกายน 2560

ธปท.มองแนวโน้มเอ็นพีแอลปรับขึ้นสูงสุดไตรมาส 4 ทะลุ 3% หนี้เสียเอสเอ็มอีและสินเชื่อบุคคลเพิ่ม

ธปท.มองแนวโน้มเอ็นพีแอลปรับขึ้นสูงสุดไตรมาส 4 ทะลุ 3% หนี้เสียเอสเอ็มอีและสินเชื่อบุคคลเพิ่ม

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ประเมินหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นสูงสุด (พีก) ในไตรมาส 4 ของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 3% หรือ 4.28 แสนล้านบาท กลุ่มที่มีความเสี่ยง เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจขนาดเล็กในบางประเภท เช่น พาณิชย์ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จากสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในกลุ่มดังกล่าวปรับขึ้น แต่จะกลายเป็น เอ็นพีแอลหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ หากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพิ่ม ความสามารถชำระหนี้ก็จะกลับมา

ทั้งนี้ สิ้นไตรมาส 3 สัดส่วนเอ็นพีแอล ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.97% จากระดับ 2.95% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีอัตรา เอ็นพีแอลมากที่สุด 4.63% ขณะที่ สินเชื่อรายย่อย เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.74% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อรายใหญ่มีเอ็นพีแอล 1.69% ซึ่งทิศทางเอ็นพีแอลในภาพรวมแม้ปรับเพิ่มขึ้นแต่มีอัตราที่ชะลอลง คาดว่าหลังพีกในไตรมาส 4 อัตราเอ็นพีแอลในปีหน้าจะทรงตัวไประยะหนึ่งก่อนทยอยปรับลดลง

สำหรับกรณี บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ที่มีปัญหาทางการเงินนั้น เชื่อว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัว ไม่ใช่สัญญาณของความเสี่ยงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม

น.ส.ดารณี กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อ รวมของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้น่าจะเติบโตเกือบ 4% สิ้นไตรมาส 3 มียอดคงค้างที่ 12.16 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4-6% โดยสินเชื่อในไตรมาส 4 คงขยายตัวดีขึ้นจากปัจจัยฤดูกาลและมาตรการกระตุ้นสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ทรงตัวที่ 3.3% เป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สินเชื่ออุปโภคบริโภคทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น หากรวมสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้จะขยายตัวที่ 4.5%

"ตอนนี้พูดยากว่าสินเชื่อควรจะเติบโตเท่าใดเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ เพราะตลาดมีพัฒนาการมากขึ้น ภาคเอกชนมีช่องทางระดมทุนหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินเชื่ออย่างเดียว แม้จะมีประเด็นการผิดนัดชำระบี/อี เมื่อต้นปี ก็ไม่ทำให้ตลาดกระตุกเยอะ" น.ส.ดารณี กล่าว

น.ส.ดารณี กล่าวอีกว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากปีที่แล้วมีกำไร 1.99 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2561 ธนาคารพาณิชย์มีความท้าทายจากแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินปรับตัวลดลงจากการที่ผู้บริโภคใช้อี-เพย์เมนต์ เช่น พร้อมเพย์ มากขึ้น ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจะเติบโตไปพร้อมกับการเติบโตสินเชื่อ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธนาคารพาณิชย์แบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ย 70% ค่าธรรมเนียม 20% และอื่นๆ 10%

ด้านไตรมาส 3 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 4.67 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยสัดส่วนสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 166% อัตราสำรองต่อเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 135% หรือ 4.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวที่ 2.78% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ในระดับสูงที่ 18.4% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 จำนวน 15.8%