posttoday

แก่นมะกรูดโมเดล ผลผลิตจาก 'พระราชดำริ'

30 ตุลาคม 2560

เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และคนไทยทั้งประเทศได้ผ่านช่วงเวลาสำคัญในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และคนไทยทั้งประเทศได้ผ่านช่วงเวลาสำคัญในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้ไม่อาจคาดได้เลยว่าความโศกเศร้าจากความสูญเสียดวงใจของชาติในครั้งนี้จะหายไปจากใจเมื่อใด แต่ตอนนี้นับเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนจะร่วมใจคิด ร่วมมือทำเพื่อสานต่อแนวพระราชดำริที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ เพื่อสร้างประเทศให้เข้มแข็ง ส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้มากมาย มีการนำไปต่อยอดในแง่ของการแก้ปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทั่วประเทศ ขณะที่แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกนำไปปรับเป็นหลักการทำงานของธุรกิจน้อยใหญ่ และขยายผลไปสู่ระดับสากลสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้นำแนวพระราชดำริเข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่

ต.แก่นมะกรูด ตั้งอยู่ในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อดีตมีปัญหาการรุกพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง โดยระยะเวลา 23 ปี ตั้งแต่ปี 2516- 2538 พบว่าพื้นที่ป่าถูกแผ้วถางทำเกษตรกรรมและเป็นไร่ร้างถึง 8,960 ไร่ แม้ทางการจะพยายามเข้าไปปราบปรามและแก้ไขก็ไม่เป็นผล กระทั่งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาเป็นองค์กรกลางประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยนำหลายแนวพระราชดำริเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา

"เผด็จ นุ้ยปรี" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุทัยธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า หน่วยงานในจังหวัดพยายามแก้ไขปัญหารุกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งมาตลอด แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กระทั่งได้มีโอกาสไปดูงานที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้เห็นผลการพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นในปี 2530 จนมาเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์เช่นปัจจุบันได้ จึงได้ปรึกษากับ "ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล" เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ว่า ต้องการนำแนวพระราชดำริเข้าไปแก้ไขปัญหารุกที่ป่าห้วยขาแข้ง

แก่นมะกรูดโมเดล ผลผลิตจาก 'พระราชดำริ'

แนวพระราชดำริอันเป็นหลักการทำงานสำคัญของโครงการพื้นที่ต้นแบบฯ นี้คือ "การระเบิดจากภายใน" นั่นคือการมุ่งแก้ปัญหาโดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมทั้งคิดและลงมือทำเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งนายก อบจ.อุทัยธานี กล่าวว่า โครงการนี้ก็เริ่มจากการดึงคนในชุมชนเข้ามาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งยอมรับว่ายากมากเพราะชุมชนยังติดอยู่กับการทำเกษตรแบบเดิมคือการทำไร่ข้าวโพด และการเข้าร่วมโครงการจะเป็นการจำกัดพื้นที่ทำกิน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นๆ จนปัจจุบันสามารถกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชน 858 ครัวเรือน ที่ดิน 1,233 แปลง รวม 16,711 ไร่ และลดปัญหาการรุกพื้นที่ป่าแม้จะยังไม่หมด แต่ก็ลดลงมากเนื่องจากชุมชนยอมเข้ามาตกลงกับทางการ

"เอกรัตน์ พรมสิริแสน" หัวหน้าโครงการพื้นที่ต้นแบบฯ กล่าวว่า การทำงานของคณะทำงานเริ่มด้วยการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้รู้แนวทางการทำงาน สำรวจข้อมูลทุกด้านทั้งกายภาพพื้นฐานของพื้นที่ข้อมูลเศรษฐกิจสังคม ภูมิสังคม นำผลมาวิเคราะห์ให้ชาวบ้านตรวจสอบความถูกต้องแล้วลำดับความสำคัญของปัญหาจนออกมาเป็นแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นี้มีแผนระยะปานกลางคือระยะ 5 ปีด้วย แผนเกิดจากชุมชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่การนำโครงการที่มีอยู่ไปใช้กับชุมชน

สำหรับการดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านนั้น ใช้การเดินสำรวจแล้วใช้ระบบจีพีเอสขีดเส้นแบ่งพื้นที่ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้โดยชาวบ้านช่วยกันทำ ทำข้อตกลงว่าแต่ละครัวเรือนจะอยู่อาศัยและทำการเกษตรในพื้นที่ที่แบ่ง จะไม่รุกเข้าไปยังที่ป่า หากจะพัฒนาการท่องเที่ยวจะต้องทำให้สอดคล้องกับพื้นที่ป่า เช่น สามารถเปิดพื้นที่ให้กางเต็นท์ได้ แต่ไม่สร้างรีสอร์ท และที่ดินที่จัดให้ทำกินนี้จะไม่สามารถขายต่อได้ เนื่องจากทางการไม่ออกเอกสารสิทธิให้ แต่สามารถตกทอดสู่ทายาทรุ่นต่อไปเพื่อใช้ทำกินได้

แก่นมะกรูดโมเดล ผลผลิตจาก 'พระราชดำริ'

เผด็จ กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมด้านการเกษตร คณะเกษตรและการ ส่งเสริมอาชีพ ได้นำแนวพระราชดำริ "โคก หนอง นา โมเดล" มาใช้ คือสนับสนุนให้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน แม้รายได้จะไม่ได้เข้ามามากเหมือนข้าวโพด แต่เป็นพืชที่เก็บขายได้ตลอด การลดการปลูกข้าวโพด ช่วยลดปัญหาหนี้สินลง พืชที่ปลูกออกมามีตลาดรองรับ เพราะคณะทำงานด้านการจัดการท่องเที่ยวได้พัฒนาตลาดกะเหรี่ยงขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงกว้างมากขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ด้วยบรรยากาศที่ไม่ต่างจากภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว ในสโลแกน "บรรยากาศเชียงใหม่ ใกล้กรุงเทพฯ"

"วันนบ ขอสุข" ชาวบ้าน ต.แก่นมะกรูด เล่าว่า หลังเข้าร่วมโครงการได้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลง และหันมาปลูกพืชผสมผสาน แม้รายได้ไม่สูงเท่ากับปลูกข้าวโพด แต่ก็ไม่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง และพืชที่ปลูกก็เก็บขายได้ตลอดทั้งปี และขณะนี้มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ลูกชายได้นำความรู้จากการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เข้ามาบริหารจัดพื้นที่ที่ทางการจัดสรรให้เป็นที่ให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์ ให้บริการนำเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งทำรายได้ดีในช่วงฤดูหนาว

แม้ปัจจุบันการรุกพื้นที่ป่าจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด แต่โครงการพื้นที่ต้นแบบ จ.อุทัยธานี เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในวงกว้างต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งผลของแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อันจะงอกเงยและส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด