posttoday

ระบบแสงอัจฉริยะ เพื่อผู้สูงอายุหลับสบาย

13 ตุลาคม 2560

พลังจากคนรุ่นใหม่ได้ร่วมพัฒนา “ระบบแสงอัจฉริยะในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” มาสู่สมาร์ทวอตช์ อุปกรณ์ช่วยในการนอนของผู้สูงอายุ

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

พลังจากคนรุ่นใหม่ได้ร่วมพัฒนา “ระบบแสงอัจฉริยะในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” มาสู่สมาร์ทวอตช์ อุปกรณ์ช่วยในการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อทำให้กลุ่มผู้สูงอายุได้รับผลดี รวมถึงสอดรับกับการสร้างอุปกรณ์เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในตลาดโลก

“อนุกูล รัดสำโรง” และ “มินตรา มานะวุฑฒ์” ผู้ร่วมพัฒนาระบบแสงอัจฉริยะในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมพัฒนา “ระบบแสงอัจฉริยะในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” (Smart illumination for elderly at home) ที่เป็นการนำงานวิจัยในเรื่องแสงและสีมาพัฒนาทำให้ผู้สูงอายุสามารถนอนหลับได้ตามปกติ นอนหลับสบายและหลับลึก

ทั้งนี้ ได้พัฒนาสู่ “สมาร์ทวอตช์” (Smart Watch) โดยเมื่อเปิดอุปกรณ์จะเชื่อมโยงกับระบบร่างกาย และตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมปรับเชื่อมโยงกับแสงไฟให้เหมาะสมกับการนอน ส่งผลให้ผู้สูงอายุเมื่อใช้งานจึงสามารถหลับได้อย่างปกติ และไม่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะพบจำนวนมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในเบื้องต้นได้ออกแบบ สายรัดข้อมือที่เป็นรุ่นขนาดเล็ก และทำให้สวมใส่ได้อย่างสะดวก

ขณะเดียวกัน สมาร์ทวอตช์จะต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบไฟในห้อง พร้อมกับสามารถผสมสีได้ตามที่ต้องการผ่านการจัดตั้งบลูทูธ เพื่อเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้อง รวมถึงการเลือกใช้หลอดไฟแอลอีดีที่มีผลในการประหยัดค่าไฟได้

สำหรับการเลือกแสงและสีมาพัฒนาสู่อุปกรณ์ต้นแบบในครั้งนี้ ทั้งคู่ได้เรียนในระดับปริญญาโทในคณะเดียวกัน รวมถึงการที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแสง อีกทั้งมีงานวิจัยมายืนยัน ซึ่งแสงและสีมีความสำคัญอย่างมาก มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก รวมถึงการสามารถใช้แสงและสีไปช่วยบำบัดอารมณ์และความรู้สึกได้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีใครที่ได้ทำมาก่อนในประเทศไทย

ส่วนการเลือกสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะในทั่วโลกและในประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องมีระบบในการจัดการดูแลผู้สูงอายุให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีความปลอดภัย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังสามารถนำไปใช้กับกลุ่มที่มีปัญหาการนอนหลับยากได“การออกแบบในครั้งนี้ เราเลือกทำให้อุปกรณ์ใช้งานได้อย่างง่าย ทำให้ผู้สูงอายุใช้งานง่าย โดยแสงจะมีผลต่อการกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกาย การปรับสมดุลของอารมณ์ ช่วยทำให้นอนหลับสบายและหลับลึก ซึ่งไฟในห้องจะดับสนิทเมื่อผู้สูงอายุนอนหลับแบบสนิทแล้ว” มินตรากล่าว

อีกทั้งผลิตภัณฑ์นี้ได้ร่วมประกวดในโครงการ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงอายุ” จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand เพื่อร่วมสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุสู่ตลาดในอนาคต

“อนุกูล” และ “มินตรา” กล่าวต่อว่า การพัฒนาครั้งนี้ยังต้องการต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ ช่วยทำให้ผู้ที่มีปัญหาการมองเห็นเลือนราง ทำให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในระยะต่อไป

เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ต้นแบบที่มีความแปลกใหม่และไม่ซ้ำใคร รวมถึงช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากที่สุด