posttoday

เร่งช่วยเอสเอ็มอี

22 กันยายน 2560

รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่อนาคต

โดย[email protected]

รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่อนาคต โดยยกเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มจีดีพีเอสเอ็มอีให้ได้ 50% ภายในปี 2564

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายด้าน ช่วงแรกเป็นการแก้ปัญหาด้านการเงินเป็นหลัก เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่อง กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 2 หมื่นล้านบาท) กองทุนฟื้นฟู SME 2,000 ล้านบาท สินเชื่อประชารัฐ เพื่อ Micro SME (Micro SME Loan) สินเชื่อ SME Transformation Loan 1.5 หมื่นล้านบาท และกองทุนนวัตกรรม 2,500 ล้านบาท

สำหรับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้การดำเนินการพิจารณาสินเชื่อกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนว ประชารัฐ ณ วันที่ 14 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา มีจำนวนเอสเอ็มอียื่นคำขอรับสินเชื่อทั้งสิ้น 3,292 ราย วงเงิน 16,836 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีความกระชับและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การปรับกระบวนการดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานไม่กระทบต่อเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเดิม ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เหลือเพียง 2 ขั้นตอนเท่านั้น พิจารณาจากด้านของคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ในการขอรับสินเชื่อเป็นสำคัญ จากนั้นจะส่งเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อได้ทันที

2.กำหนดให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำส่วนกลาง/ประจำจังหวัด รวมถึงคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ประจำส่วนกลางและประจำจังหวัด เปิดการประชุมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย เดือนละ 2 ครั้ง จากเดิมประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

3.ผ่อนปรนการเรียกตรวจเอกสาร โดยขอให้ส่งเฉพาะเอกสารที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อน ส่วนเอกสารประกอบอื่นๆ สามารถส่งตามภายหลังได้

4.ปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเดิมรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท จะอยู่ที่สัดส่วน 75% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ที่สัดส่วน 25% มาเป็นสัดส่วน 50:50 เท่ากัน กล่าวคือ สินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของกองทุน เพื่อเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ที่จำเป็น ใช้วงเงินสูงขึ้นในการลงทุนและปรับปรุงกิจการ

ทั้งนี้ การปรับกระบวนการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการพิจารณากระบวนการต่างๆ เท่าเดิม โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ย. นี้จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 9,900 ล้านบาท และภายเดือน ต.ค.จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ได้อย่างแน่นอน

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี โทร.1358 www.smessrc.com