posttoday

ดันแผนค้าออนไลน์5ปี ตั้งเป้าปี'64มูลค่าเพิ่มเท่าตัว

17 สิงหาคม 2560

พาณิชย์ทำแผนอี-คอมเมิร์ซ แห่งชาติระยะ 5 ปี ดันมูลค่าการค้าออนไลน์เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท ในปี 2564

พาณิชย์ทำแผนอี-คอมเมิร์ซ แห่งชาติระยะ 5 ปี ดันมูลค่าการค้าออนไลน์เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท ในปี 2564

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาต (อี-คอมเมิร์ซ) ระยะ 5 ปี (ปี 2560-2564) โดยกำหนดเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยทุกรูปแบบที่มีประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 100% เฉลี่ยปีละ 20% และเฉพาะการค้าแบบบีทูซี หรือธุรกิจสู่ผู้บริโภค ตั้งเป้าเพิ่มจาก 4.75 แสนล้านบาท เป็น 9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซของไทย โดยเฉพาะรูปแบบบีทูซีมีมูลค่า 4.75 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดในประเทศอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าในอาเซียนทั้งหมด และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือและผลักดันให้มีผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะจากตัวตัวเลขที่สำรวจได้มีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) แค่ 5 แสนราย ที่ค้าขายออนไลน์เป็น จากจำนวนเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในระบบทั้งหมดกว่า 2 ล้านราย

สำหรับแนวทางการทำงานภายใต้แผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ 2.เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำอี-คอมเมิร์ซ อำนวยความสะดวกทางการค้า สู่สากล 3.เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพปัจจัยสนับสนุน และ 4.สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย

อย่างไรก็ตาม ในด้านการพัฒนา ผู้ประกอบการจะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการในระดับฐานราก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ค้าขายออนไลน์เป็น และพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยขยายจนถึงการส่งออก รวมถึงช่วยพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และพัฒนาแพ็กเกจสินค้าให้ดึงดูด และรองรับการขนส่ง

ด้านการสร้างสภาพแวดล้อม เน้นยกระดับการชำระเงินที่ปลอดภัย เพื่อลดต้นทุนด้านการชำระเงินให้กับผู้ซื้อและ ผู้ขาย เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้สะดวกมากขึ้น และส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการชำระเงินใหม่ๆ รวมทั้งเชื่อมต่อระบบการชำระเงินกับสากล ส่วนโลจิสติกส์จะเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ