posttoday

เพิ่มมูลค่าสินค้าเจาะตลาดภูมิภาค

12 สิงหาคม 2560

การจัดทำสารานุกรม “สีอาเซียน” ขึ้นมา นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของประเทศไทยที่มีการศึกษาและจัดทำมาตรฐานสีเดียวกันจาก 10 ประเทศ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การจัดทำสารานุกรม “สีอาเซียน” ขึ้นมา นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของประเทศไทยที่มีการศึกษาและจัดทำมาตรฐานสีเดียวกันจาก 10 ประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าในงานออกแบบและดีไซน์ เพราะต้องยอมรับว่า “สี” มีส่วนสำคัญในการดึงดูดความน่าสนใจให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบโครงการที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยต่อยอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของเดิมที่มีอยู่ให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อย่างแท้จริง

สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงแนวคิดในการจัดทำสารานุกรมสีอาเซียน เพราะมองเห็นว่าการออกแบบงานต่างๆ สีเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ผลงานที่ออกมามีแรงดึงดูด มีความน่าสนใจมากขึ้น จะทำให้มีประโยชน์ในการพัฒนา สร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าออกมาให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ และรสนิยมของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการออกแบบสินค้าเพื่อให้ตรงใจตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน

“สารานุกรมสีอาเซียนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการออกแบบและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้โลกทัศน์ของประชาคมอาเซียนสามารถถ่ายทอดความคิดและสื่อสารเข้าใจตรงกันมากยิ่งขึ้น และนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป” สุรพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ประโยชน์ของสารานุกรมสีอาเซียน ยังช่วยให้การทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบและช่างเกิดความเข้าใจตรงกันในการให้สีผลงานออกมาตรงกัน เนื่องจากค่าสีที่มีชื่อเรียกเหมือนกัน แต่ในความต้องการแต่ละเฉดสีนั้น มีช่วงค่าสีที่กว้างไม่เท่ากัน เช่น สีเขียวในภาษาไทย ที่มีเสียงพ้องกับชื่อสีของกัมพูชาที่เรียกว่า โบเคียว แต่ค่าที่ได้จะออกไปทางสีน้ำเงินมากกว่าเขียว เป็นต้น

สิรดา ไวยาวัจมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เสริมว่าการที่มีสีที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จะทำให้กลายเป็นจุดแข็งของสินค้าในการแข่งขันระดับสากลได้ รวมทั้งยังสามารถนำสีไปต่อยอดในงานออกแบบสื่อสมัยใหม่ในหลากหลายธุรกิจได้ เช่น ธุรกิจสุขภาพและความงาม ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว สื่อหนังสือและนิตยสาร

เพิ่มมูลค่าสินค้าเจาะตลาดภูมิภาค

ธนนิตย์ รัตนเนนย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกระเบื้องคอตโต้ บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย แชร์ความเห็นว่า กระเบื้องเป็นสินค้าที่ขาย Mood and Tone ให้ผู้ที่นำไปใช้ตกแต่งบ้านมีความสุข ซึ่งการรู้ในรายละเอียดว่า ความหมายของสีนั้นเป็นอย่างไร รู้และเข้าใจว่าควรใช้และไม่ควรใช้สีใดกับตลาดไหน ทำให้สามารถข้ามข้อจำกัดในการเข้าไปตลาดแต่ละประเทศอาเซียนหมดไป และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าได้ด้วย เพราะตลาดอาเซียนนับเป็นตลาดที่สำคัญของคอตโต้ เพราะมีสัดส่วนในการส่งออกมากถึง 50% ของยอดส่งออกทั้งหมด

“การเข้าใจความหมายของสีทำให้สามารถเอามาต่อยอดพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น โดยสามารถเติมรายละเอียดเข้าไปในผลิตภัณฑ์ได้ถูกต้อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่ามากขึ้น อย่างคอตโต้เองการเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้สูตรสีพิเศษที่ตรงกับโค้ดค่าสีของสารานุกรมสีอาเซียนออกมา กลายเป็นมูลค่าเพิ่มในการสร้างความแตกต่างจากสินค้าในกลุ่มเดียวกัน ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น” ธนนิตย์ กล่าว

จะเห็นว่า เพียงแค่เรื่องเล็กๆ อย่าง “สี” เมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดใส่ในงานออกแบบให้ถูกที่ถูกเวลา ใส่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เข้าไป ก็ช่วยเสริมให้สินค้าที่ออกมามีความโดดเด่นมากขึ้น และเป็นหนึ่งในต้นแบบของการนำคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” มาใช้ที่เป็นรูปธรรม